คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่กำหนดว่า “ในกรณีที่พนักงานมาทำงานในวันหยุดพิเศษ (วันหยุดตามประเพณี) นายจ้างตกลงจ่ายเงินให้ในอัตราสองเท่าของเงินเดือนและค่าบริการโดยเฉลี่ยเป็นรายวัน ส่วนการขาดงานให้ตัดเงินเดือนและค่าบริการโดยเฉลี่ยเป็นรายวันในกรณีที่พนักงานสายเกินกำหนด ซึ่งไม่ถือว่าขาดงานจะทำโทษเฉพาะตัดเงินเดือนเท่านั้น” เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบการทำงานเฉพาะในวันหยุดพิเศษ หรือวันหยุดประเพณี มิได้หมายความถึงการทำงานในวันทำงานตามปกติ ซึ่งมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยวางไว้ต่างหาก
เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างได้กำหนดมาตรการในการลงโทษลูกจ้างผู้มาทำงานสายไว้เป็นลำดับ ซึ่งระดับโทษมีตั้งแต่ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างที่มาทำงานสายเป็นประจำ ซึ่งนายจ้างได้ออกหนังสือเตือนหลายครั้งโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้
การที่ลูกจ้างมาทำงานสายเป็นประจำและนายจ้างได้เตือน แล้วถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๔ จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานอ้างว่าโจทก์มาทำงานสายเกินกำหนดเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหมวด ๔ ข้อ ๔ ซึ่งระบุว่า กรณีที่พนักงานมาทำงานเกินกำหนดซึ่งไม่ถือว่าขาดงานจะทำโทษได้เฉพาะตัดเงินเดือนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจเลิกจ้างโจทก์ได้ และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยไม่ได้จ่ายค่าชดเชยและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างและสิทธิอื่น ๆ ในขณะเลิกจ้าง หากไม่รับกลับเข้าทำงานให้จ่ายค่าชดเชยจำนวน ๕,๘๒๓ บาท และสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๒,๗๘๒.๑๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในบทที่ ๘ ข้อ ๘.๑ ข โดยโจทก์มาทำงานสายเกินเวลาทำงานที่กำหนดไว้ทั้งที่จำเลยอะลุ้มอล่วยให้โจทก์มาทำงานสายได้ไม่เกิน ๑๒๐ นาทีต่อเดือน แต่โจทก์ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จำนวน ๑ ครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ๑๑ ครั้ง และในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จำนวน ๒ ครั้ง จำเลยได้ออกใบเตือนและคาดโทษไว้แล้วว่า ถ้าฝ่าฝืนอีกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซ้ำอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน บทที่ ๘ ข้อ ๘.๓ ก.และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) กรณีที่พนักงานมาทำงานสายเกินกำหนดซึ่งไม่ถือว่าขาดงานจะทำโทษเฉพาะตัดเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหมวด ๔ ข้อ ๔ นั้น เป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์เกี่ยวกับเงินค่าบริการมิให้ถูกตัดเนื่องจากมาทำงานสายเท่านั้น ไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะเลิกจ้างแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาจำเลยแถลงรับว่า มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงานโรงแรมนารายณ์กับจำเลย ลูกจ้างของจำเลยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวเกินกว่าสองในสาม การที่โจทก์มาทำงานสายจำเลยได้ตัดเงินเดือนโจทก์ตามบัญชีเงินเดือนในช่องบัญชีส่วนตัว จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์แถลงรับว่าจำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโจทก์มาทำงานสายเกิน ๑๒๐ นาทีในหนึ่งเดือนและจำเลยได้ออกใบเตือนเรื่องมาทำงานสาย ๑๐ ฉบับ ใบเตือนความประพฤติ ๓ ฉบับ โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำและจำเลยได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างในเรื่องการมาทำงานสายเป็นอาจิณกระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหมวดที่ ๔ ข้อ ๔ ที่กำหนดว่า “ในการที่พนักงานมาทำงานในวันหยุดพิเศษ(วันหยุดตามประเพณี) จำเลยตกลงจ่ายเงินให้ในอัตราสองเท่าของเงินเดือนและค่าบริการ โดยเฉลี่ยเป็นรายวันส่วนการขาดงานให้ตัดเงินเดือนและค่าบริการโดยเฉลี่ยเป็นรายวัน ในกรณีที่พนักงานมาทำงานสายเกินกำหนดซึ่งไม่ถือว่าขาดงาน จะทำโทษเฉพาะตัดเงินเดือนเท่านั้น” นั้น เห็นว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบการทำงานเฉพาะวันหยุดพิเศษคำว่า “ทำงานสายเกินกำหนด” ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ ๔ ดังกล่าวหมายถึงการทำงานในวันหยุดพิเศษหรือวันหยุดตามประเพณีมิได้หมายถึงการทำงานในวันทำงานตามปกติซึ่งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยวางระเบียบไว้แล้ว ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า การมาทำงานสายกว่าเวลาทำงานที่กำหนดไว้เสมอ ๆ เป็นความผิดทางวินัย โดยบทที่ ๘ ข้อ ๘.๑ ได้ระบุว่าพนักงานที่กระทำผิดทางวินัย ตามที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าวต่อไปนี้จะได้รับการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือถูกตัดค่าจ้าง ข.มาทำงานสายกว่าเวลาทำงานที่กำหนดไว้เสมอ ๆ ข้อ ๘.๒ พนักงานที่กระทำผิดทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าวต่อไปนี้จะได้รับการลงโทษให้พักงานชั่วคราวเป็นเวลา ๑ – ๖ วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงาน ก.กระทำความผิดที่กำหนดไว้ในข้อ ๘.๑ ซ้ำเป็นครั้งที่สอง ข้อ ๘.๓ พนักงานที่กระทำความผิดทางวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อความดังต่อไปนี้ โรงแรมจะพิจารณาเลิกจ้างทันทีโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยใด ๆ ก.กระทำความผิดที่กำหนดไว้ในข้อ ๘.๑ ซ้ำเป็นครั้งที่สาม หรือในข้อ ๘.๒ ซ้ำเป็นครั้งที่สอง
โจทก์มาทำงานสายเกิน ๑๒๐ นาที ใน ๑ เดือนอยู่เสมอ กล่าวคือระหว่างวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๒ ถึงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสายรวม ๒๓๗ นาที ระหว่างวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๒๗๓ นาที ระหว่างวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๔๓๔ นาที ระหว่างวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๓ ถึงวันที่๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๔๔๒ นาที ระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๒๗๒ นาที ระหว่างวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๖๐๑ นาทีระหว่างวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๙๑๙ นาที ระหว่างวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๒๒๔ นาที ระหว่างวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ โจทก์มาทำงานสาย ๕๘๗ นาที ระหว่างวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๔ โจทก์มาทำงานสาย ๑๔๒ นาที จำเลยได้ทำหนังสือเตือนโจทก์รวม ๑๐ ฉบับและออกใบเตือนเรื่องความประพฤติ ๓ ฉบับ แต่โจทก์ก็ยังมาทำงานสายระหว่างวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๔ อีกเป็นเวลารวมกัน ๙๔๗ นาที การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยบทที่ ๘ ข้อ ๘.๓ และจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗(๓) และการที่โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำทั้ง ๆ ที่จำเลยได้เตือนแล้ว ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิที่จะไล่โจทก์ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย
พิพากษายืน

Share