คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอส่งสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานภายหลังที่โจทก์แถลงต่อศาลว่าหมดพยานแล้ว แต่เป็นคำพิพากษาซึ่งศาลลงโทษจำเลยฐานบุกรุกอันเป็นมูลคดีนี้ซึ่งโจทก์ก็ได้กล่าวอ้างผลของคำพิพากษา และหมายเลขคดีอาญานั้นมาในฟ้องแล้วจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธ จึงถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว โจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นอีก แต่เมื่อโจทก์อ้างส่งและศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจที่จะรับสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสาม, 87 (2)
เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำผิดฐานบุกรุกตึกแถวพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว การพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญานั้น
คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งจำเลยถูกฟ้องฐานบุกรุกและถูกลงโทษเสร็จเด็ดขาดแล้วก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปอยู่ในตึกแถว ๑ คูหาของโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายถึงวันฟ้องรวม ๕๓ เดือน เป็นเงิน ๓๑,๘๐๐ บาท และค่าเสียหายต่อไปเดือนละ ๖๐๐ บาท
จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยอยู่ในห้องพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจองห้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินเดือนละ ๕๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยตามขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่าที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้รับสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ในคดีอาญาหมายเลขแดง ๖๔๒๗/๒๕๑๗ ซึ่งโจทก์ส่งภายหลังที่โจทก์แถลงต่อศาลว่าหมดพยานแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบทำให้จำเลยเสียเปรียบนั้น เห็นว่าคำฟ้องคดีนี้โจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าจำเลยบุกรุกห้องพิพาทและศาลลงโทษจำเลยฐานบุกรุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีถึงที่สุด ซึ่งจำเลยมิได้ปฏิเสธอันถือว่าจำเลยรับแล้ว ทั้งโจทก์ก็ได้ระบุอ้างสำนวนคดีอาญาดังกล่าวในบัญชีพยานของโจทก์ไว้แล้ว แม้จะได้ส่งอ้างคำพิพากษาคดีดังกล่าวในภายหลังที่โจทก์แถลงหมดพยานแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ย่อมมีอำนาจสั่งอนุญาตและรับสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรคสาม, ๘๗ (๒) ไม่เป็นการทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี
ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยเข้าอยู่ในห้องพิพาทไม่เป็นการบุกรุก แต่กรณีเป็นเรื่องครอบครองตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจองห้องนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีอาญาดังกล่าววินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีสิทธิอันใดในห้องพิพาทจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตึกแถวพิพาท และพิพาษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว การพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือว่าจำเลยบุกรุกตึกแถวพิพาทจริงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ จำเลยเข้าอยู่ในห้องพิพาทจึงเป็นการบุกรุก จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นมิได้
ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายที่ว่า โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยบุกรุก อันโจทก์ถือว่าเป็นมูลละเมิดเรียกค่าเสียหายจากจำเลย คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และจำเลยได้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานบุกรุกตึกแถวพิพาทเสร็จเด็ดขาดแล้วก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ดังนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๖๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ วรรคสาม หาใช่มีกำหนดอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ ดังที่จำเลยฎีกาไม่ คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share