คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2968/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ (จำเลย) ได้มอบอำนาจให้เจ้าหนี้นำที่ดิน 6 โฉนดไปทำสัญญาจำนองประกันหนี้ที่ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับเจ้าหนี้ เจ้าหนี้นำที่ดินทั้ง 6 โฉนดไปทำจำนองในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ โดยได้จดทะเบียนจำนองเสร็จเรียบร้อยในเดียวกันทั้ง 6 โฉนดก่อนสิ้นเวลาราชการในวันนั้น เมื่อไม่มีพยานฝ่ายเจ้าหนี้ปากใดยืนยันว่าได้ทำจำนองเสร็จก่อนเที่ยงวันหรือก่อนเวลา 13.30 น. อันเป็นเวลาที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ กรณีฟังไม่ได้ว่า เจ้าหนี้ได้ทำจำนองเสร็จก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จึงจะถือว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน มีสิทธิจำนองเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 95 ไม่ได้
ลูกหนี้ออกเช็คสั่งให้ธนาคารเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จ่ายเงินให้แก่บริษัท อ. โดยลงวันที่ในเช็ควันที่ 12 ธันวาคม 2517 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ธนาคารเจ้าหนี้จ่ายเงินตามเช็คนั้นให้แก่บริษัท อ.ไปในวันดังกล่าว ดังนี้ มูลแห่งหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระจึงเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกหนี้ได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว แม้เจ้าหนี้จะจ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตและไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ เจ้าหนี้ก็จะขอรับชำระหนี้ในเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94

ย่อยาว

๋คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ ธนาคารแห่งอินโดจีน จำกัด เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้รายที่ ๘ ยื่นคำขอรับชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและดอกเบี้ยรวม ๖,๐๘๑,๐๕๐.๖๔ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา ๙๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าลูกหนี้ที่ ๒ นำที่ดินทั้ง ๖ โฉนดมอบให้เจ้าหนี้ไม่ใช่เพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแต่เดิมของลูกหนี้ที่ ๒ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา ๖ จะขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม มาตรา ๙๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ไม่ได้ และลูกหนี้ที่ ๒ เป็นหนี้เจ้าหนี้เพียง ๕,๘๖๐,๕๙๗.๗๒ บาท ส่วนที่เจ้าหนี้อ้างว่าลูกหนี้ที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน ๑๓๙,๔๐๒.๒๘ บาท เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๗ นั้น เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้ว จึงต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ จึงเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน ๕,๘๖๐,๕๙๗.๗๒ บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ ตามมาตรา ๑๓๐ (๘) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ คำขออื่นและที่ขอเกินมานอกจากนี้ควรให้แยก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ ตามมาตรา ๑๓๐ (๘) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยให้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงิน ๕,๘๖๐,๕๙๗.๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นวันที่ลูกหนี้ที่ ๒ ถูกพิทักษ์ทรัพย์ นอกจากนี้ให้เป็นไปตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าหนี้นำที่ดินทั้ง ๖ โฉนดไปทำจำนองในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ ๒ ถือไม่ได้ว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินจำนองก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ และเช็คที่เจ้าหนี้จ่ายเงินไปมิได้มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันลูกหนี้ที่ ๒ ถูกพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ไม่ได้ พิพากษายืน
เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากจะฟังตามที่เจ้าหนี้ให้การว่า ลูกหนี้ที่ ๒ มอบที่ดินทั้ง ๖ โฉนดให้ทำจำนองประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีก็ตาม การที่นายพิชญผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ทำจำนองแทนโดยต้องไถ่จำนองที่ดินโฉนดที่ ๑๔๘๕๐ ของลูกหนี้ที่ ๒ และรับโอนที่ดินโฉนดที่ ๙๓๑๓ มาเป็นของลูกหนี้ที่ ๒ ก่อนแล้วจึงทำจำนองที่ดินทั้ง ๒ โฉนดต่อเจ้าหนี้ เมื่อเสร็จแล้ว จึงได้ทำจำนองที่ดินโฉนดที่ ๕๙๓๙๖ ถึง ๕๙๓๙๙ อีก ๔ โฉนด ดังที่นายพิชญ์ พยานเจ้าหนี้ให้การนั้นเป็นการทำจำนองที่ดินทั้ง ๖ โฉนดเป็นขั้นๆ ไป จึงต้องใช้เวลา เห็นได้จากคำให้การของนายพิชญ์ที่ว่า ได้จดทะเบียนเสร็จเรียบร้อยในวันเดียวกันทั้ง ๖ โฉนด ซึ่งหมายความว่า ได้ทำจำนองเสร็จก่อนสิ้นเวลาราชการในวันทำจำนองนั้นหาได้มีพยานฝ่ายเจ้าหนี้ปากใดให้การยืนยันว่า ได้ทำจำนองที่ดินทั้ง ๖ โฉนดเสร็จก่อนเที่ยงวันหรือก่อนเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ ๒ ดังที่เจ้าหนี้ฎีกาแต่อย่างใดไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทำจำนองที่ดินทั้ง ๖ โฉนดเสร็จก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ ๒ จึงจะถือว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิจำนองเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ไม่ได้
เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำรหนี้ฎีกาข้อต่อไปว่า ก่อนที่ลูกหนี้ที่ ๒ จะถูกพิทักษ์ทรัพย์ ได้สั่งจ่ายเช็ครายพิพาทจำนวนเงิน ๑๓๙,๔๐๒.๒๘ บาท ให้แก่บริษัทเอี๊ยบบราเดอร์ส จำกัด เพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๗ จึงถือว่ามูลหนี้ตามเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ออกและมอบเช็คให้แก่ผู้ทรงไปแล้ว และเจ้าหนี้จ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ ๒ จึงมีสิทธิเรียกชดใช้เอาคืนจากทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ นั้น ได้ความจากคำให้การของนายยังคลูสกรุ๊ฟฟาพยานเจ้าหนี้ว่า เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๗ ลูกหนี้ที่ ๒ ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน ๑๓๙,๔๐๒.๒๘ บาท ให้แก่บริษัทเอี๊ยบบราเดอร์ส จำกัดเจ้าหนี้จึงได้จ่ายเงินตามเช็คให้ไปดังนี้ เป็นเรื่องเจ้าหนี้เพิ่งจ่ายเงินตามเช็คของลูกหนี้ที่ ๒ ให้แก่บริษัทเอี๊ยบบราเดอร์ส จำกัด ไปเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๗ มูลแห่งหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระจึงเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกหนี้ที่ ๒ ได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ แล้ว ดังนั้น แม้เจ้าหนี้จะจ่ายเงินตามเช็คไปโดยสุจริตและไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ ๒ เจ้าหนี้ก็จะขอรับชำระหนี้ในเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ ตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๖๕/๒๕๑๐ และ ๓๒๓๕/๒๕๑๖ ที่เจ้าหนี้อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษายืน.

Share