แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลเห็นว่าตามคำร้องของผู้ร้องประกอบกับเอกสารท้ายคำร้องฟังได้ว่าผู้ร้องได้ซื้อที่ดินจาก ป.แล้วได้จำนองที่ดินทั้งแปลงไว้กับ บ. และผู้ร้องได้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อย ๆ ในนามเดิมและติดจำนองหลายสิบแปลง อันเห็นได้ชัดว่าผู้ร้องแบ่งแยกที่ดินเพื่อสร้างตึกแถว ตลาดสด และศูนย์รวมการค้าตามคำร้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสืบพยานในข้อนี้
ผู้ร้องแถลงยอมให้ยึดเงินสด 100,000 บาทของผู้ร้องเท่าที่จำเลยตีราคาไว้ในการยึดที่ดินแพทนการยึดที่ดินแปลงดังกล่าว โดยแถลงไว้ชัดว่าหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ซึ่งจะต้องชำระหนี้เงิน 99,458 บาท แก่จำเลยกับพวกแล้วก็ให้ศาลบังคับคดีนำเงิน 100,000 บาท ชำระให้จำเลยกับพวกได้ แม้ผู้ร้องจะมิได้มีนิติสัมพันธ์ต้องชำระเงินให้จำเลยก็ตาม แต่ก็ผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำแถลงของผู้ร้อง จำเลยจึงมิได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ร้องขอวางเงินแทนการยึดที่ดินแต่อย่างใด เนื่องจากการร้องขอปล่อยทรัพย์ก็ยังคงดำเนินเรื่องอยู่ต่อไป หากจำเลยชนะคดีจำเลยก็รับเงินที่ผู้ร้องวางศาลไว้ไปได้ การที่ศาลล่างสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ก็โดยอาศัยเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเพื่อบรรเทาความเสียหายให้ผู้ร้อง จึงเป็นการสั่งไปโดยอำนาจของศาลที่จะสั่งได้ และไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295
การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนายเดียวมีคำสั่งให้รับเงินที่ผู้ร้องวางต่อศาลแทนการยึดที่ดิน และสั่งให้แจ้งการถอนการยึดที่ดินให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ เป็นการออกคำสั่งซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 21(2) จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด และการสั่งให้โจทก์หรือผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการถอนนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องสั่งไว้ในคำสั่งที่ให้เพิกถอนการยึดด้วย จะสั่งภายหลังก็ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน ๙๙,๔๕๘ บาทแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระ จำเลยจึงขอให้ศาลชั้นต้นหมายบังคับคดียึดที่ดินโฉนดที่ ๑๑๐๗ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยอ้างว่าเป็นของโจทก์ขายเอาเงินชำระหนี้ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง ไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของโจทก์ ผู้ร้องยื่นคำแถลงว่าผู้ร้องได้ซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างตึกแถวและศูนย์การค้าและได้จำนองไว้กับนายบุญส่ง จำเลยแกล้งยึดทรัพย์ของผู้ร้องเพื่อมิให้ผู้ร้องแบ่งแยกที่ดินขายตึกแถวให้ลูกค้าทำให้ผู้ร้องเสียหายมาก ซึ่งค่าเสียหายจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนการยึดโฉนดที่ดินดังกล่าว โดยให้ยึดเงินสดของผู้ร้องจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตามราคาที่จำเลยยึดไว้แทน หากจำเลยพิสูจน์ได้ว่าที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นของโจทก์ซึ่งจะต้องชำระหนี้จำนวน ๙๙,๔๕๘ บาทแก่จำเลยแล้ว ศาลก็สั่งบังคับคดีนำเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่ผู้ร้องวางไว้ชำระให้แก่จำเลยได้ ซึ่งไม่ทำให้จำเลยเสียหายแต่ประการใด
จำเลยที่ ๒ แถลงคัดค้านว่า เมื่อผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของผู้ร้อง ก็ชอบที่ศาลจะสืบพยานและพิพากษาไปตามรูปคดี จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะยึดเงินสดของผู้ร้องมาชำระหนี้ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรับเงินสดจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จากผู้ร้องไว้แทนการยึดโฉนด
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลเห็นว่าตามคำร้องของผู้ร้องประกอบกับเอกสารท้ายคำร้องฟังได้ว่าผู้ร้องได้ซื้อที่ดินจาก ป. แล้วได้จำนองที่ดินทั้งแปลงไว้กับ บ. และผู้ร้องได้แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อย ๆ ในนามเดิมและติดจำนองหลายสิบแปลง อันเห็นได้ชัดว่าผู้ร้องแบ่งแยกที่ดินเพื่อสร้างตึกแถว ตลาดสด และศูนย์รวมการค้าตามคำร้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสืบพยานในข้อนี้
ผู้ร้องแถลงยอมให้ยึดเงินสด ๑๐๐,๐๐๐ บาทของผู้ร้องเท่าที่จำเลยตีราคาไว้ในการยึดที่ดินแทนการยึดที่ดินดังกล่าว โดยแถลงไว้ชัดว่าหากจำเลยพิสูจน์ได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ซึ่งจะต้องชำระหนี้เงิน ๙๙,๔๕๘ บาท แก่จำเลยกับพวกแล้วก็ให้ศาลบังคับคดีนำเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทชำระให้จำเลยกับพวกได้ แม้ผู้ร้องจะมิได้มีนิติสัมพันธ์ต้องชำระเงินให้จำเลยก็ตาม แต่ก็ต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำแถลงของผู้ร้อง จำเลยจึงมิได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ร้องขอวางเงินแทนการยึดที่ดินแต่อย่างใด เนื่องจากการร้องขอปล่อยทรัพย์ก็ยังคงดำเนินเรื่องอยู่ต่อไป หากจำเลยชนะคดี จำเลยก็รับเงินที่ผู้ร้องวางศาลไว้ไปได้ การที่ศาลล่างสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ก็โดยอาศัยเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเพื่อบรรเทาความเสียหายให้ผู้ร้อง จึงเป็นการสั่งไปโดยอำนาจของศาลที่จะสั่งได้ และก็ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๕
การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนายเดียวมีคำสั่งให้ริบเงินที่ผู้ร้องวางต่อศาลแทนการยึดที่ดิน และสั่งให้แจ้งการถอนการยึดที่ดินให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ เป็นการออกคำสั่งซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๑ (๒) จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด และการสั่งให้โจทก์หรือผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการถอนนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องสั่งไว้ในคำสั่งที่ให้เพิกถอนการยึดด้วย และสั่งภายหลังก็ได้
พิพากษายืน