คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยแต่งงานกับนาง น. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จำเลยจึงไม่ใช่ทายาท ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ น. ในคดีเดิมโจทก์ไม่ได้ฟ้อง น.เป็นจำเลย หากแต่ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมรดกของ น. แม้คำพิพากษาในคดีเดิมจะฟังว่า น.กู้เงินโจทก์ไปจริงก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของ น.เป็นจำเลย การที่โจทก์นำยึดที่พิพาทซึ่งมารดาของ น.ยกให้ น.ก่อนแต่งงานกับจำเลย โดยมีชื่อ น.เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว จึงเป็นการยึดทรัพย์ของผู้อื่นมิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด
ผู้ร้องทั้งสามเป็นบุตรของ น.เกิดจากจำเลย ในระหว่างที่ น.ยังมีชีวิตอยู่ น.จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ร้อง ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538 เมื่อ น.ถึงแก่กรรม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เยาว์จึงไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมและเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของ น. เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตั้ง ส.เป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้ร้องทั้งสาม ส.จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้ร้องทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสุดท้าย และมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับมรดกของ น.ก่อน

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมรดกของนางนวน สิงหาพันธ์ ภรรยาผู้มรณะ เรียกเงินกู้และดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๔๑,๔๖๐ บาทให้โจทก์ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน ส.ค.๑ เลขที่ ๑๓๑ และที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๗๗๕ อ้างว่าเป็นที่ดินของจำเลย
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดทั้งสองแปลงเป็นของนางนวน สิงหาพันธ์ มารดาผู้ร้องทั้งสาม จำเลยเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางนวน จึงไม่ใช่ทายาทของนางนวน ไม่มีสิทธิได้รับมรดก เมื่อนางนวนตาย มรดกของนางนวนจึงตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสาม ขอให้ถอนการยึด
โจทก์ให้การว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมรดกของนางนวน ซึ่งจำเลยเป็นสามีเป็นทายาทผู้รับมรดก ผู้จัดการมรดก ผู้ปกครองทรัพย์ของนางนวน ผู้ร้องไม่ใช่ทายาทของนางนวน นางสำราญ คงศิริ ผู้แทนเฉพาะคดีไม่มีอำนาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์แทนผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดินทั้งสองแปลง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาว่า ในคดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมรดกนางนวนภรรยาผู้มรณะ และศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยฟังว่าจำเลยและนางนวนได้กู้เงินโจทก์ไปจริง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธินำยึดที่ดิน ๒ แปลงซึ่งมีชื่อนางนวนเป็นเจ้าของและยังไม่มีผู้รับมรดกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่านายหลิมและนางนวนแต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินมีโฉนดและ ส.ค.๑ ที่โจทก์นำยึดก็ได้ความว่าเดิมเป็นของนางเรือนมารดกยกให้แก่นางนวนก่อนแต่งงานกับนายหลิม และมีชื่อนางนวนเป็นเจ้าของโดยไม่มีชื่อนายหลิมจำเลยเป็นเจ้าของร่วมแต่อย่างใด ในคดีเดิม (คดีแพ่งแดงที่ ๖๔/๒๕๑๖ ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) ก็ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องนางนวนเป็นจำเลย หากแต่ฟ้องนายหลิมในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมรดกของนางนวน นายหลิมจำเลยจึงไม่ใช่ทายาท ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนางนวน แม้คำพิพากษาในคดีเดิมจะฟังว่านางนวนกู้เงินโจทก์ไปจริงก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของนางนวนเป็นจำเลย การที่โจทก์นำยึดที่ดินโฉนดและ ส.ค.๑ ซึ่งแม้จะมีชื่อนางนวนเป็นเจ้าของ จึงเป็นการยึดทรัพย์ของผู้อื่นมิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึด
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปอีกว่าผู้ร้องทั้งสามยังไม่ได้รับมรดกของนางนวน จึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์นั้น เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบของนางนวนเกิดจากนายหลิมจำเลย แต่ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหลิมจำเลย ในระหว่างที่นางนวนยังมีชีวิตอยู่ นางนวนจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ร้องตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๘ เมื่อนางนวนถึงแก่กรรม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เยาว์จึงไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมและเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของนางนวน เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งให้นางสำราญ คงศิริ เป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้ร้องทั้งสาม นางสำราญ คงศิริ จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้ร้องทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๖ วรรคสุดท้าย และมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับมรดกของนางนวน สิงหาพันธ์ ก่อน
พิพากษายืน.

Share