แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับหลัง โจทก์นำเงินที่ได้รับจากธนาคารชำระหนี้ค่าอากรขาเข้าก่อน แล้วจึงนำส่วนที่เหลือไปชำระเงินเพิ่ม ส่วนกรณีตามใบขนสินค้าขาเข้า 2 ฉบับแรก มีข้อสงสัยว่า โจทก์นำเงินที่ได้จากธนาคารไปชำระหนี้ค่าอากรขาเข้าก่อนหรือชำระเงินเพิ่มก่อน จึงตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ว่าโจทก์นำเงินที่ได้รับจากธนาคารไปหักชำระเงินค่าอากรขาเข้าก่อน
โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสามฉบับ แต่จำเลยไม่ชำระ และมิได้อุทธรณ์การประเมิน โจทก์จึงเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามจำนวนที่ค้ำประกันไว้ ปรากฏว่าเงินที่ธนาคารส่งให้โจทก์มีจำนวนมากกว่าอากรขาเข้า ดังนั้น เมื่อโจทก์นำไปชำระค่าอากรขาเข้าก่อน จึงไม่มีอากรขาเข้าที่ค้างชำระอีกต่อไป เงินที่ขาดจำนวนอีก 345,890.88 บาท จึงเป็นเงินเพิ่มที่จำเลยยังค้างชำระ แม้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม จะบัญญัติให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินอากร แต่มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติ “…ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้น…” ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนจากเงินเพิ่มที่ค้างชำระจำนวน 345,890.88 บาท เพราะเป็นการคิดเงินเพิ่มทบต้น ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 477,329.41 บาท และเงินเพิ่มตามใบขนเลขที่ 0103 00161060 อัตราเดือนละ 1,983.69 บาท ใบขนเลขที่ 0302 00460114 อัตราเดือนละ 539.58 บาท ใบขนเลขที่ 0103 00766068 อัตราเดือนละ 935.64 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 345,890.88 บาท แก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง และตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2536 จำเลยนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 3 ครั้ง ตามใบขนสินค้าขาเข้า โดยจำเลยจะใช้สินค้าดังกล่าวเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ให้จำเลยวางประกันค่าอากรขาเข้าแต่ละใบขนเป็นเงิน 707,000 บาท 207,000 บาท และ 406,000 บาท ตามลำดับ จำเลยได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและวางประกันค่าอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสามฉบับโดยใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำเลยรับสินค้าไปแล้ว ต่อมาเมื่อครบ 1 ปี จำเลยมิได้นำสินค้าดังกล่าวมาผลิตเป็นสินค้าแล้วส่งออก จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอรับอากรขาเข้าคืนและต้องชำระค่าอากรขาเข้ารวมทั้งเงินเพิ่มสำหรับสินค้าดังกล่าว โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสามฉบับรวมเป็นเงิน 1,097,128 บาท แต่จำเลยไม่ชำระและมิได้อุทธรณ์การประเมิน โจทก์จึงเรียกให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามจำนวนที่ค้ำประกันไว้ เมื่อธนาคารชำระหนี้แล้วยังมีหนี้ค่าภาษีค้างชำระรวม 345,890.88 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนโดยคิดจากค่าภาษีจำนวนดังกล่าวหรือไม่ ในการหักเงินที่ธนาคารผู้ค้ำประกันส่งมาชำระภาษีนั้น โจทก์มีนายวรวิทย์และนางพุฒินาถมาเบิกความเพียงว่าเงินที่ธนาคารส่งมาชำระยังไม่คุ้มกับค่าอากรและเงินเพิ่ม ตามใบสรุปยอดเงินภาษีอากรขาเข้า พิเคราะห์แล้ว ตามใบสรุปยอดเงินภาษีอากรขาเข้าซึ่งเป็นการชำระค่าภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0103 00161060 และเลขที่ 0103 00766068 ตามลำดับ มิได้ระบุว่าเงินที่ธนาคารนำมาชำระนั้นหักชำระอากรขาเข้าก่อนหรือชำระเงินเพิ่มก่อน เพียงแต่มีข้อความว่า โจทก์นำอากรขาเข้าและเงินเพิ่มมารวมกันแล้วลบด้วยจำนวนเงินที่ธนาคารส่งมาชำระแล้วระบุว่าชำระขาด 198,369.08 บาท และ 93,563.64 ตามลำดับ ส่วนใบสรุปยอดเงินภาษีอากรขาเข้าซึ่งเป็นการชำระค่าภาษีสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0302 00460114 ระบุไว้ว่าเงินที่ธนาคารส่งมาชำระนั้น โจทก์นำไปหักชำระอากรขาเข้าก่อน แล้วจึงนำเงินที่เหลือไปชำระเงินเพิ่ม เมื่อหักแล้วเงินเพิ่มคงค้างชำระ 53,958.16 บาท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า กรณีตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับหลังนี้ โจทก์นำเงินที่ได้รับจากธนาคารชำระหนี้ค่าอากรขาเข้าก่อนแล้วจึงนำส่วนที่เหลือไปชำระเงินเพิ่ม ส่วนกรณีตามใบขนสินค้าขาเข้า 2 ฉบับแรก มีข้อสงสัยว่าโจทก์นำเงินที่ได้จากธนาคารไปชำระหนี้ค่าอากรขาเข้าก่อนหรือชำระเงินเพิ่มก่อน จึงตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์นำเงินที่ได้รับจากธนาคารไปหักชำระเป็นค่าอากรขาเข้าก่อน เมื่อปรากฏว่าเงินที่ธนาคารส่งให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค้ำประกันตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับมีจำนวนมากกว่าอากรขาเข้า ดังนั้น เมื่อโจทก์นำไปชำระหนี้ค่าอากรขาเข้าก่อน จึงไม่มีอากรขาเข้าที่ค้างชำระอีกต่อไป เงินที่ขาดจำนวนอีก 345,890.88 บาท จึงเป็นเงินเพิ่มที่จำเลยยังค้างชำระ แม้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม จะบัญญัติให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินอากร แต่มาตรา 112 วรรคหนึ่ง บัญญัติ “…ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้น…” ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนจากเงินเพิ่มที่ค้างชำระจำนวน 345,890.88 บาท เพราะเป็นการคิดเงินเพิ่มทบต้น ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้.