แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับ ฉ. นั้น ฉ.ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องอยู่ก่อนแล้ว และยังคงเป็นคู่สมรสกับผู้ร้องตลอดมา จนกระทั่ง ฉ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับ ฉ. จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น แม้ ฉ. ได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ร้องนำคดีมาร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ อันเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างผู้ร้องกับ ฉ. และระหว่างผู้คัดค้านกับ ฉ. สิ้นสุดลงตามมาตรา 1501 ก็ตาม ก็ไม่ตัดอำนาจผู้ร้องในอันที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ เพราะคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1495 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การตกเป็นโมฆะย่อมมีผลเท่ากับว่าผู้คัดค้านและ ฉ. ไม่ได้สมรสกัน ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 133 (เดิม) และมาตรา 1497 (เดิม) มีสิทธิร้องขอให้การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับ ฉ. เป็นโมฆะได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งว่าการสมรสระหว่างจ่าสิบเอกฉลองกับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับจ่าสิบเอกฉลองหรือนายฉลองโดยสุจริต ไม่ทราบว่าจ่าสิบเอกฉลองมีคู่สมรสมาก่อนและอยู่กินฉันสามีภริยาโดยเปิดเผยนับแต่ปี 2530 ตลอดมาจนกระทั่งจ่าสิบเอกฉลองถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านมีบุตรซึ่งเกิดจากจ่าสิบเอกฉลอง 1 คน หากการสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับจ่าสิบเอกฉลองเป็นโมฆะ ผู้คัดค้านขอเรียกค่าเลี้ยงชีพจากกองมรดกของจ่าสิบเอกฉลองเป็นเงิน 450,000 บาท ค่าทดแทนที่ผู้คัดค้านได้รับความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง และค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ได้จัดการทรัพย์สินเกี่ยวกับอาชีพหรือทางทำมาหาได้จากการสมรสกับจ่าสิบเอกฉลองโดยสุจริต เป็นเงิน 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 600,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า การสมรสระหว่างนายฉลอง (ที่ถูกจ่าสิบเอกฉลองหรือนายฉลอง) ผู้ตายกับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ และให้กองมรดกของนายฉลอง (ที่ถูกจ่าสิบเอกฉลองหรือนายฉลอง) ผู้ตายจ่ายค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนแก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 300,000 บาท
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องและฟ้องแย้งของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีปรากฏชัดเจนว่า ขณะที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับจ่าสิบเอกฉลองนั้น จ่าสิบเอกฉลองได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2510 และยังคงเป็นคู่สมรสกับผู้ร้องตลอดมา จนกระทั่งจ่าสิบเอกฉลองได้ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับจ่าสิบเอกฉลอง จึงเป็นการฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น แม้จ่าสิบเอกฉลองได้ถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนผู้ร้องนำคดีมาร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ อันเป็นเหตุให้การสมรสระหว่างผู้ร้องกับจ่าสิบเอกฉลอง และระหว่างผู้คัดค้านกับจ่าสิบเอกฉลองต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 1501 ก็ตาม ก็ไม่ตัดอำนาจของผู้ร้องในอันที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ เพราะคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน มาตรา 1452 เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1495 เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับว่าผู้คัดค้านและจ่าสิบเอกฉลองไม่ได้สมรสกัน ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 133 เดิม และมาตรา 1497 (เดิม) มีสิทธิร้องขอให้การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับจ่าสิบเอกฉลองเป็นโมฆะได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้การสมรสระหว่างจ่าสิบเอกฉลองหรือนายฉลอง เศวตนันทน์ กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.