แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นทั้งยี่สิบสามฉบับระหว่าง ท. ซึ่งเป็นผู้ซื้อกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ขาย ที่ได้ยื่นเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดนั้น เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นขณะที่ ท. ยังเป็นหน่วยงานหนึ่งของผู้ร้องและยัง มิได้โอนไปเป็นหน่วยงานของบริษัท อ. สิทธิและหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากสัญญาทั้งยี่สิบสามฉบับจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน แม้ในระหว่างที่สัญญายังมีผลผูกพันอยู่ ท. จะไม่เป็นหน่วยงานของผู้ร้องต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานหรือพฤติการณ์อย่างใด ๆ อันแสดงให้เห็นว่าได้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาทั้งยี่สิบสามฉบับจากผู้ร้องไปยังบริษัท อ. ด้วย เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามสัญญา ผู้ร้องในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธินำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดได้ เมื่อบริษัทผู้ร้องมีหนังสือไปถึงสมาคมการค้ายางนานาชาติเพื่อขอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ และสมาคมการค้ายางนานาชาติได้ดำเนินการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่ได้ยื่นเสนอไป ย่อมฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ยื่นเสนอข้อพิพาทคดีนี้ให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยตามสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน รวม 23 ฉบับ ซึ่งระบุให้คู่สัญญาปฏิบัติตามระเบียบของสมาคมการค้ายางนานาชาติในกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้น โดยต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน เป็นผู้ทำการชี้ขาด และกระบวนการเสนอแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมดังกล่าวแล้ว เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแล้ว ผู้ร้องย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 30
คดีนี้ผู้ร้องร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดเสียได้ต่อเมื่อผู้คัดค้านซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรณีตามที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (6) ของมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือมีกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านไม่เคยทำสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นกับผู้ร้องนั้น ไม่ใช่กรณีที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 และ 35 ทั้งอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นกันจำนวนยี่สิบสามฉบับ และผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ผู้คัดค้านฎีกาดังกล่าวก็เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่เมื่อเหตุที่ผู้คัดค้านฎีกาดังกล่าวไม่ใช่เหตุใดเหตุหนึ่งที่ศาลอาจมีคำสั่งปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ จึงเป็นข้อที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจรับวินิจฉัยเพื่อพิจารณาทบทวนคำชี้ขาดในข้อดังกล่าวนั้นได้อีก
แม้ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 20 จะกำหนดไว้ว่า คำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่ออนุญาโตตุลาการ โดยระบุเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยทั้งปวงไว้โดยแจ้งชัด แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีบทมาตราใดตามพระราชบัญญัตินี้ให้นำมาใช้บังคับแก่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศด้วย และตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งนำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ ก็ระบุให้ศาลอาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับความถูกต้องของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้แต่เพียงว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 (4) เท่านั้น ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ไม่จำต้องระบุเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้ด้วยเสมอไป
ในคำร้องขอข้อ 6 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายมีข้อความว่า ผู้ร้องไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ จึงต้องยื่นคำร้องขอนี้ต่อศาลเพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ โดยชำระเงินจำนวน 15,320,332.56 บาท ให้ผู้ร้อง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้ผู้ร้องครบถ้วน เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ร้องได้ขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องเป็นเงินไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันยื่นคำร้องขอจำนวน 15,320,332.56 บาท ไม่ใช่เงินตราต่างประเทศ ทั้งไม่อาจตีความหมายถ้อยคำตามคำร้องขอข้อ 6 ดังกล่าวว่าไม่ใช่คำขอบังคับ เป็นแต่เพียงเพื่อประโยชน์ในการคิดค่าขึ้นศาลเท่านั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องเฉพาะจำนวนเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการรวมยี่สิบสามฉบับเท่านั้น ไม่รวมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องตามคำร้องขอของผู้ร้อง โดยให้ชำระเป็นเงินตราต่างประเทศ แม้จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยมาด้วย ก็เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้องขอ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องโดยทรอปปิคอล โปรดักส์ เซลส์ (Tropical Products Sales) ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของผู้ร้องได้ซื้อน้ำยางข้นจากผู้คัดค้าน ตามสัญญารวม 23 ฉบับ ปรากฏว่าผู้คัดค้านส่งมอบสินค้าตามสัญญาเพียง 5 ฉบับ และไม่ครบถ้วน ส่วนที่เหลือไม่ส่งมอบสินค้าเลย ผู้ร้องทวงถามแล้ว ผู้คัดค้านเพิกเฉย จึงส่งเรื่องให้อนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษวินิจฉัยชี้ขาดตามข้อตกลงในสัญญา อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นอันสิ้นสุดลง ผู้คัดค้านจะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่ผู้ร้องสำหรับส่วนต่างของราคาสินค้าตามสัญญาแต่ละฉบับกับราคาท้องตลาดในขณะนั้นพร้อมด้วยเบี้ยปรับเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 557,598.49 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายกับค่าธรรมเนียมชั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 8,050 ปอนด์สเตอร์ลิง อนุญาโตตุลาการได้ส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตาม ผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเงินบาท โดยถืออัตราแลกเปลี่ยน ณ วันยื่นคำร้องขอในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 25.45 บาท และ 1 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ 39.14 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 15,320,332.56 บาท ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องขอจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้กระทำที่ประเทศอังกฤษ ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลซึ่งอยู่ในบังคับของประเทศเบลเยี่ยมและประเทศไทย ซึ่งประเทศทั้งสามต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958)
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ทรอปปิคอล โปรดักส์ เซลส์ ไม่ได้เป็นแผนกหนึ่งของผู้ร้อง ผู้คัดค้านไม่เคยทำสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นกับผู้ร้อง และไม่เคยตกลงให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการตามระเบียบของสมาคมการค้ายางนานาชาติ การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 คำชี้ขาดไม่ระบุเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยทั้งปวงไว้โดยชัดแจ้ง จึงขัดต่อกฎหมายและเป็นการชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะวินิจฉัยก่อนถึงกำหนดเวลาที่ให้ผู้คัดค้านส่งมอบสินค้า ผู้คัดค้านจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด คำชี้ขาดมิได้กำหนดให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 42,503.30 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 2,100 ปอนด์สเตอร์ลิงแก่ผู้ร้อง โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารไทยพาณิชย์ (ที่ถูกธนาคารพาณิชย์) ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา ให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 100,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 557,598.49 ดอลลาร์สหรัฐ (ที่ถูกเป็น 547,598.49 ดอลลาร์สหรัฐ) และจำนวน 8,050 ปอนด์สเตอร์ลิงแก่ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท แทนผู้ร้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นทั้งยี่สิบสามฉบับที่ได้ยื่นเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดนั้น เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นขณะที่ทรอปปิคอล โปรดักส์ เซลส์ ยังเป็นหน่วยงานหนึ่งของผู้ร้องและยังมิได้โอนไปเป็นหน่วยงานของบริษัทไอทีซี โกลบอล โฮลดิงส์ พีทีอี จำกัด สิทธิและหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากสัญญาทั้งยี่สิบสามฉบับจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน แม้ในระหว่างที่สัญญายังมีผลผูกพันอยู่ ทรอปปิคอล โปรดักส์ เซลส์ จะไม่เป็นหน่วยงานของผู้ร้องต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานหรือพฤติการณ์อย่างใด ๆ อันแสดงให้เห็นว่าได้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาทั้งยี่สิบสามฉบับจากผู้ร้องไปยังบริษัทไอทีซี โกลบอล โฮลดิงส์ พีทีอี จำกัด ด้วย เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามสัญญา ผู้ร้องในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธินำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดได้ แม้การทำหนังสือเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องจะใช้ชื่อทรอปปิคอล โปรดักส์ เซลส์ หน่วยงานหนึ่งของผู้ร้องเป็นผู้ยื่น และขณะนั้นทรอปปิคอล โปรดักส์ เซลส์ มิได้เป็นหน่วยงานของบริษัทผู้ร้องแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องที่เกิดขึ้นและมีอยู่แล้วต้องหมดสิ้นไป เมื่อสมาคมการค้ายางนานาชาติได้ดำเนินการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่ได้ยื่นเสนอไป และกระบวนการเสนอแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมดังกล่าวแล้ว เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด ผู้ร้องย่อมยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้นภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงผู้คัดค้านได้ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 30
คดีนี้ผู้ร้องร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่อยู่ในบังคับแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดเสียได้ต่อเมื่อผู้คัดค้านซึ่งจะถูกบังคับสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรณีตามที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (1) ถึง (6) ของมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือมีกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา 35 ข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านไม่เคยทำสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นกับผู้ร้องนั้น ไม่ใช่กรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 ดังกล่าว ทั้งอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาซื้อขายน้ำยางข้นกันจำนวน 23 ฉบับ และผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ผู้คัดค้านฎีกาดังกล่าวก็เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่เมื่อเหตุที่ผู้คัดค้านฎีกาดังกล่าวไม่ใช่เหตุใดเหตุหนึ่งที่ศาลอาจมีคำสั่งปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ จึงเป็นข้อฎีกาที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจรับวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านเพื่อพิจารณาทบทวนคำชี้ขาดนั้นในข้อดังกล่าวได้อีก
แม้ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 20 จะกำหนดไว้ว่า คำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่ออนุญาโตตุลาการ โดยระบุเหตุผลแห่งข้อวินิจฉัยทั้งปวงไว้โดยแจ้งชัด แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในประเทศเท่านั้น ไม่มีบทมาตราใดตามพระราชบัญญัตินี้ให้นำมาใช้บังคับแก่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศด้วย และตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งนำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ ก็ระบุให้ศาลอาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับความถูกต้องของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้แต่เพียงว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 (4) เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ไม่จำต้องระบุเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้ด้วยเสมอไป
ตามคำร้องขอของผู้ร้องได้บรรยายถึงคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศซึ่งกำหนดให้ผู้คัดค้านต้องชำระค่าเสียหายและค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ร้องเป็นเงินตราต่างประเทศ และในตอนท้ายได้แปลงเป็นเงินไทยโดยคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันยื่นคำร้องขอ รวมเป็นเงิน 15,320,332.56 บาท โดยระบุว่าให้ถือเป็นทุนทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าขึ้นศาล แต่อย่างไรก็ดี ในคำร้องขอข้อ 6 ซึ่งเป็นข้อต่อมาและเป็นข้อสุดท้ายมีข้อความว่า ผู้ร้องไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ จึงต้องยื่นคำร้องขอนี้ต่อศาลเพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ โดยชำระเงินจำนวน 15,320,332.56 บาท ให้ผู้ร้อง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้ผู้ร้องครบถ้วน เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ร้องได้ขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องเป็นเงินไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันยื่นคำร้องขอจำนวน 15,320,332.56 บาท ไม่ใช่เงินตราต่างประเทศ ทั้งไม่อาจตีความหมายถ้อยคำตามคำร้องขอข้อ 6 ดังกล่าวว่าไม่ใช่คำขอบังคับ เป็นแต่เพียงเพื่อประโยชน์ในการคิดค่าขึ้นศาลเท่านั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องเฉพาะจำนวนเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการรวม 23 ฉบับเท่านั้น ไม่รวมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องตามคำร้องขอของผู้ร้องโดยให้ชำระเป็นเงินตราต่างประเทศ แม้จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยมาด้วย ก็เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้องขอไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 14,251,458.57 บาท แก่ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.