คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง เช่าซื้อ ค้ำประกัน ++
++ คดีแดงที่ 5440-5441/2542 ++
++ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่เช่าซื้อที่สูญหายไป แต่ให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จึงเป็นสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกอันมีผลบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 374, 375 และ 376 เมื่อโจทก์ผู้รับประโยชน์ได้เรียกร้องให้บริษัทรับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว เป็นการถือเอาประโยชน์ตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยโดยตรงในนามของตนเอง การที่โจทก์ไม่ฟ้องผู้รับประกันภัย แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง 2 ปีเศษ จนขาดอายุความ จึงเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
เมื่อทะเบียนรถยนต์ที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นทะเบียนรถยนต์คันที่หายไปจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำแผ่นป้ายเลขทะเบียนดังกล่าวมาใช้กับรถยนต์คันที่ตนครอบครองอยู่ แม้จำเลยที่ 1 จะชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนครบทุกงวดก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้แก่กันได้ จำเลยที่ 1 จึงมีเหตุที่จะอ้างไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อจนกว่าโจทก์จะดำเนินการแก้ไขให้จำเลยที่ 1 สามารถใช้และได้รับประโยชน์จากรถยนต์คันที่ครอบครองและสามารถจดทะเบียนโอนให้แก่กันได้โดยชอบ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดด้วย ++

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทั้งสองสำนวนเป็นโจทก์จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในสำนวนที่รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อทั้งสองคันคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินคันละ ๕๐๐,๐๐๐ บาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าใช้ทรัพย์สำหรับรถยนต์คันที่ ๑ เป็นเงิน ๒๕๖,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๕๖,๐๐๐ บาท และร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างสำหรับรถยนต์คันที่ ๒ เป็นเงิน ๕๖,๘๘๘ บาท และค่าใช้ทรัพย์๑๖๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๑๖,๘๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงิน ๒๑๖,๘๘๘ บาท นับแต่วันฟ้องแต่ละสำนวนจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าใช้ทรัพย์เดือนละ ๘,๐๐๐ บาท ต่อคัน จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์หรือชดใช้ราคา กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าติดตามรถยนต์คันละ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้องว่า เสียก่อนโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเมื่อโจทก์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้ว จึงไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตามสืบหาทรัพย์ตามที่โจทก์อ้างฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเคลือบคลุม ไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่า จำเลยที่ ๑ โต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างไร และคำขอท้ายฟ้องสำนวนแรกไม่บรรยายว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๕ ธ – ๙๘๔๕ กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบคืนนั้น หมายเลขเครื่องยนต์ และหมายเลขตัวถังหมายเลขเท่าใดซึ่งหมายเลขทะเบียนดังกล่าวไม่ตรงกับหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถัง ส่วนคำขอท้ายฟ้องสำนวนที่สองมิได้บรรยายว่า รถยนต์คันที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบคืนนั้นมีหมายเลขทะเบียนหรือไม่ เลขทะเบียนเท่าใด และค่าเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้องโจทก์คิดคำนวณเอาเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายพงศธร คุณานุสรณ์ ฟ้องร้องดำเนินคดี นายพงศธรมอบอำนาจช่วงให้นายเจริญพิชิตลำเค็ญ และนายเฉลิมชัย องค์จิระวุฑฒิ์ ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน สีขาว ไปจากโจทก์สองคันแยกทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อเป็นสองฉบับฉบับแรกลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘เอ็นเอส – เอส ๐๐๕๙๕ ฉบับที่สอง ลงวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๔ เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๖๓๙ ในราคาคันละ ๖๘๒,๖๕๖ บาทข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อเป็นอย่างเดียวกันคือ ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือนเดือนละ ๑๔,๒๒๒ บาท ทุกวันที่ ๑๐ ของเดือน นับแต่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๑๗ และ จ.๕ตามลำดับ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ทั้งสองคันไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จำนวนเงินจำกัดความรับผิดต่อทรัพย์สินไว้คันละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑รับรถยนต์ทั้งสองคันไปพร้อมกันในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๓ ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ ธันวาคม๒๕๓๓ รถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อสูญหายไป ๑ คัน จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า รถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๕๙๕ สูญหายไป แต่ความจริงแล้วรถยนต์คันที่สูญหายคือคันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๖๓๙จำเลยที่ ๑ ยังคงครอบครองใช้รถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘เอ็นเอส – เอส ๐๐๕๙๕ ตลอดมา โจทก์ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๖๓๙ ได้ แผ่นป้ายเลขทะเบียน๕ ธ – ๙๘๔๕ กรุงเทพมหานคร มอบให้จำเลยที่ ๑ นำไปใช้กับรถยนต์หมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๕๙๕ จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อสำหรับรถยนต์คันที่ครอบครองอยู่ให้แก่โจทก์ ๙ งวด แล้วเกิดอุบัติเหตุ บริษัทสินมั่นคงประกันภัยจำกัด มาตรวจสอบแล้วไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้อ้างว่า รายละเอียดในการประกันภัยไม่ตรงกัน จำเลยที่ ๑ จึงได้ทราบว่า ที่แจ้งความร้องทุกข์เรื่องรถยนต์สูญหายไว้นั้นเป็นการแจ้งผิดคัน เพราะคันที่แจ้งว่า สูญหายนั้นกลับเป็นคันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองใช้อยู่ จำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทะเบียนรถยนต์ให้ถูกต้องเพื่อใช้ได้กับรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครอง แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้ จำเลยที่ ๑จึงไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์อีก จำเลยที่ ๑ เคยเรียกร้องให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด จ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับรถยนต์คันที่สูญหายไปและเคยร้องเรียนต่อกรมการประกันภัยขอให้สั่งบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด จ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวด้วย แต่บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายให้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า การแจ้งความร้องทุกข์เรื่องรถยนต์หายผิดคันเป็นความผิดของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าการที่โจทก์ระบุหมายเลขเครื่องยนต์ผิดคันมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นความผิดของจำเลยที่ ๑ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เหตุที่การแจ้งความร้องทุกข์เรื่องรถยนต์หายผิดคันนั้น เป็นเพราะหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ไปแจ้งความร้องทุกข์ระบุหมายเลขเครื่องยนต์ ไม่ตรงกับหมายเลขเครื่องยนต์ของรถคันที่หายไป และเหตุที่ระบุหมายเลขเครื่องยนต์ในหนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้องตรงกับความจริงนั้น เป็นเพราะโจทก์หรือพนักงานของโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบโดยละเอียดและรอบคอบ ดังนั้น การแจ้งความร้องทุกข์เรื่องรถยนต์หายผิดคันจึงเป็นความผิดพลาดของโจทก์
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า การที่โจทก์ไม่ฟ้องผู้รับประกันภัย แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง ๒ ปีเศษ จนขาดอายุความเป็นความผิดของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ทราบว่า ได้แจ้งความร้องทุกข์รถยนต์คันที่หายผิดคันเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ เนื่องจากรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่เกิดอุบัติเหตุและบริษัทรับประกันภัยปฏิเสธการจ่ายเงินให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑จึงยื่นคำร้องเรียนต่ออธิบดีกรมการประกันภัยเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕ แต่บริษัทรับประกันภัยก็ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ ๑ ทางกรมการประกันภัยจึงแนะนำให้ไปดำเนินคดีทางศาล ซึ่งขณะนั้นยังไม่เกินกำหนด ๒ ปี นับแต่เกิดเหตุรถหายแต่จำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้ฟ้องร้องบริษัทรับประกันภัย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ ๑ จึงต้องเป็นผู้ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ไม่ใช่โจทก์เป็นผู้ฟ้องร้องแม้เอกสารเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยจะอยู่กับโจทก์ก็ตาม ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘เอ็นเอส – เอส ๐๐๖๓๙ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ตามทุนประกัน จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่เช่าซื้อทั้งสองคัน แต่ให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ สัญญาดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าเป็นสัญญาเพื่อบุคคลภายนอก อันมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา๓๗๔, ๓๗๕ และ ๓๗๖ สิทธิของผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนี้จะเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ผู้รับประกันภัยว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น ไม่ว่าจะได้แสดงเจตนามาก่อนหรือหลังจากที่ได้เกิดวินาศภัยแล้ว และผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยโดยตรงในนามของตนเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้นายเฉลิมชัยองค์จิระวุฑฒิ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าโจทก์เคยไปติดต่อขอรับเงินในฐานะผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ ๑ ทำไว้กับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด แต่ปรากฏว่า บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ไปแจ้งความร้องทุกข์หลังจากรถหายไปแล้วหลายวันจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้เรียกร้องให้บริษัทรับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว เป็นการถือเอาประโยชน์ตามสัญญา โจทก์ผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยโดยตรงในนามของตนเอง ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ฟ้องผู้รับประกันภัย แต่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง๒ ปีเศษ จนขาดอายุความจึงเป็นความผิดของโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องชดใช้ความเสียหายให้โจทก์
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ ๑ไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะดำเนินการแก้ไขทะเบียนรถยนต์ให้ถูกต้อง ทำให้จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ ไปแจ้งความร้องทุกข์ว่า รถยนต์คันที่หายหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๕๙๕(ซึ่งไม่ถูกต้องตรงกับความจริง) โจทก์จึงไปดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์คันที่เหลืออยู่คือคันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๖๓๙ เสร็จแล้วมอบป้ายทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยที่ ๑ ไปเพื่อใช้กับรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่ต่อมาวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ รถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถคนอื่น โจทก์จึงทราบว่ารถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่หมายเลขเครื่องยนต์ไม่ตรงกับหมายเลขเครื่องยนต์คันที่ไปขอจดทะเบียน ความผิดพลาดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑ โจทก์ไม่อาจดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการจดทะเบียนได้ เพราะรถยนต์คันที่เหลืออยู่ถูกแจ้งอายัดไว้ต่อสำนักงานขนส่งทางบกเป็นเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ ๑ ได้ และจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๕๙๕ ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๑๗ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า รถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่คือรถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส๐๐๕๙๕ แต่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างเข้าใจว่า เป็นคันหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘เอ็นเอส – เอส ๐๐๖๓๙ ฝ่ายจำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าเช่าซื้อสำหรับรถยนต์คันที่ครอบครองอยู่รวม ๙ งวดส่วนโจทก์ได้ไปขอจดทะเบียนสำหรับคันหมายเลขเครื่องยนต์ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส ๐๐๖๓๙ ได้หมายเลขทะเบียน ๕ ธ – ๙๘๔๕กรุงเทพมหานคร แล้วมอบแผ่นป้ายทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ เพื่อนำไปใช้กับรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่ ต่อมารถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถคนอื่น มีการตรวจสอบหมายเลขเครื่องยนต์โจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงได้ทราบว่า รถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองนั้นหมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘เอ็นเอส – เอส ๐๐๕๙๕ ไม่ใช่หมายเลขเครื่องยนต์ ซีเอ ๑๘ เอ็นเอส – เอส๐๐๖๓๙ ดังนั้น แผ่นป้ายและหมายเลขทะเบียน ๕ ธ – ๙๘๔๕ กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ นั้น จึงใช้กับรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่ไม่ได้ จำเลยที่ ๑ได้ให้โจทก์ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทะเบียนรถเสียให้ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อไปอีก ดังนี้ จะเห็นได้ว่าทะเบียนรถยนต์ที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ ๑ นั้นเป็นทะเบียนรถยนต์คันที่หายไป จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธินำแผ่นป้ายเลขทะเบียนดังกล่าวมาใช้กับรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่ไม่สามารถใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์คันที่ครอบครองอยู่ได้ และแม้จำเลยที่ ๑ จะชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนครบทุกงวดก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้แก่กันได้ จำเลยที่ ๑จึงมีเหตุที่จะอ้างไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อจนกว่าโจทก์จะได้ดำเนินการแก้ไขให้จำเลยที่ ๑สามารถใช้และได้รับประโยชน์จากรถยนต์คันที่ครอบครอง และสามารถจดทะเบียนโอนให้แก่กันได้โดยชอบ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดไปด้วย
พิพากษายืน.

Share