คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าที่ดินแปลงใดมีที่ดินเหลือจากการเวนคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ดินแปลงนั้นที่มีอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ หาได้มีความหมายเลยไปถึงที่ดินของโจทก์แปลงอื่นที่อยู่ข้างเคียงซึ่งมิได้ถูกเวนคืนด้วยเลยกลายเป็นที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๓๕,๔๖๖,๕๗๖.๑๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๐.๗๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๒๗,๓๘๕,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว นอกจากนี้การที่มีทางหลวงพิเศษสายนี้ตัดผ่านที่ดินของโจทก์ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีทางเข้าออกสะดวกยิ่งขึ้น ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่ย่อมมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕,๓๔๐,๐๐๐ บาท และ ๒,๔๑๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๗,๗๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนนับตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๓๘ และวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๙ ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า การพิจารณาว่าที่ดินแปลงใดมีที่ดินเหลือจากการเวนคืนหรือไม่ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ดินแปลงนั้นที่มีอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ สำหรับคดีนี้คือวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ หาได้มีความหมายเลยไปถึงที่ดินของโจทก์แปลงอื่นที่อยู่ข้างเคียงซึ่งมิได้ถูกเวนคืนด้วยเลยกลายเป็นที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯที่ดินอีกห้าสิบเอ็ดแปลงของโจทก์มิได้อยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายดังกล่าว ดังนั้น แม้การเวนคืนที่ดินครั้งนี้จะทำให้ที่ดินทั้งห้าสิบเอ็ดแปลงดังกล่าวนั้นมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม ก็ไม่อาจนำเอาประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากที่ดินทั้งห้าสิบเอ็ดแปลงซึ่งไม่ได้ถูกเวนคืนเลยมาคำนึงว่าควรเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์แปลงที่ถูกเวนคืนหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ ๙๔๑๓๗ , ๙๔๑๔๓ , ๙๔๑๕๙ , ๙๔๑๖๕ และ ๙๔๑๖๖ แต่ละแปลงถูกเวนคืนบางส่วน และมีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนบางส่วน จึงควรนำเอาประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของแต่ละแปลงดังกล่าวมาคำนึงว่าควรเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนแต่ละแปลงตามลำดับหรือไม่เพียงใดด้วย เมื่อคำนึงถึงพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับราคาที่ดินแปลงอื่นและที่จำเลยทั้งสองมิได้โต้เถียงว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ มีราคาต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์ และเงินค่าทดแทนที่ดินที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่ที่ดินของโจทก์กับสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) ถึง (๕) ประกอบกับประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับจากที่ดินของโจทก์บางแปลงที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นแล้ว เห็นว่า สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๓๘ ถึง๙๔๑๔๒ โฉนดเลขที่ ๙๔๑๖๐ ถึง ๙๔๑๖๔ ซึ่งแต่ละแปลงถูกเวนคืนหมดทั้งแปลง รวมทั้งหมดเป็นเนื้อที่ ๑,๐๖๘ ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๔๓ ซึ่งถูกเวนคืน ๙๑ ตารางวา กับที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๖๕ ซึ่งถูกเวนคืน ๑๐๔ ตารางวา มีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเพียง ๙ ตารางวา และ ๑๐ ตารางวา ตามลำดับ โดยลำพังของที่ดินที่เหลือเพียงเล็กน้อยใช้ประโยชน์ได้จำกัดลงไม่น่าจะมีราคาสูงขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวทั้งหมดตารางวาละ ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๓๗ , ๙๔๑๕๙ และ ๙๔๑๖๖ ถูกเวนคืนเพียง ๑๗ ตารางวา , ๒๐ ตารางวา และ ๙ ตารางวา มีที่ดินเหลือจากการเวนคืน ๘๓ ตารางวา , ๙๓ ตารางวา และ ๑๐๕ ตารางวา ตามลำดับ ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์เป็นที่ก่อสร้างบ้านพักอาศัยหรืออาคารพาณิชย์ได้ และด้านหนึ่งของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนแต่ละแปลงจะอยู่ติดทางคู่ขนานของทางหลวงพิเศษสายนี้ ทำให้ศักยภาพของที่ดินส่วนนี้ดีขึ้นจากเดิมมาก ย่อมทำให้มีราคาสูงขึ้นจากเดิมมากด้วย แม้ราคาสูงขึ้นจากเดิมเล็กน้อยเพียงหนึ่งในสี่ก็จะมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนแล้ว ดังนั้นเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสามแปลงหลังนี้ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์ตารางวาละ ๕,๐๐๐ บาท นั้น เป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว จึงไม่ควรเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสามแปลงหลังนี้ให้แก่โจทก์อีก สรุปแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๓๘ ถึง ๙๔๑๔๒ โฉนดเลขที่ ๙๔๑๖๐ ถึง ๙๔๑๖๔ และ ๙๔๑๖๖ เพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยอีกตารางวาละ ๕,๐๐๐ บาท เนื้อที่ ๑,๐๖๘ ตารางวา เป็นเงิน ๕,๓๔๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๔๓ และ ๙๔๑๖๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงนี้เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้อีกตารางวาละ ๑๐,๐๐๐ บาท เนื้อที่ ๑๙๕ ตารางวา เป็นเงิน ๑,๙๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗,๒๙๐,๐๐๐ บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๓๘ ถึง ๙๔๑๔๒ โฉนดเลขที่ ๙๔๑๖๐ ถึง ๙๔๑๖๔ เพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยอีก ๕,๓๔๐,๐๐๐ บาท และเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๔๑๔๓ และ ๙๔๑๖๕ เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดอีก ๑,๙๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐.๗๕ ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นับแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๘ และนับแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๓๙ ของยอดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นแต่ละจำนวนดังกล่าวตามลำดับ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.

นายสุพจน์ แสงประชากุล ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายวีระวัฒน์ ปวราจารย์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share