คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8159/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยกำหนดนัดประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 12 ตุลาคม 2540 เมื่อการประชุมยังไม่เสร็จสิ้นโดยที่ประชุมมีมติให้เลื่อนไปนัดประชุมใหม่ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 จึงถือได้ว่าในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 เป็นวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญอีกด้วย การที่คณะกรรมการบริหาร (ชุดเก่า) ได้ลงมติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ให้เลื่อนวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญไปเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 ย่อมไม่มีอำนาจกระทำได้เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงมติของที่ประชุมใหญ่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม และต้องถือว่าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 ยังเป็นวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญเช่นเดิม เมื่อที่ประชุมลงมติไม่ไว้วางใจคณะกรรมการบริหารชุดเดิมและเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย การที่โจทก์ในฐานะประธานกรรมการบริหารชุดใหม่นำรายชื่อคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อจำเลยเป็นการดำเนินการโดยเทียบเคียงตามนัยมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 120 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำเลยในฐานะนายทะเบียนตามกฎหมายจะต้องดำเนินการรับจดทะเบียนให้ การที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนรายชื่อคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ตามคำขอของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งด่วนมากที่ รส 0607/02996 เรื่อง การขอจดทะเบียนกรรมการสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 เมษายน 2541 ของจำเลย และให้จำเลยรับจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2540 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 หากจำเลยไม่ยอมรับจดทะเบียน ขอให้ถือคำพิพากษาของศาลในการแสดงเจตนาของโจทก์เป็นการจดทะเบียน ตามข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย จำนวน 53 สหภาพแรงงาน จากจำนวนทั้งสิ้น 117 สหภาพแรงงาน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อกันขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยหนังสือเรียกร้องได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการให้เรียกประชุมไว้โดยชัดแจ้ง การขอเรียกประชุมใหญ่วิสามัญของสมาชิกดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ข้อ 16 (5) และข้อ 24 (2) เมื่อมีการขอเรียกประชุมในกรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารในฐานะผู้บริหารงานของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยจะต้องดำเนินการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญโดยเร็ว โดยคณะกรรมการบริหารไม่จำต้องมีมติให้เรียกประชุมอีก ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังจากสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ได้ยื่นหนังสือขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญถูกต้องตามข้อบังคับแล้ว นายบรรจงซึ่งเป็นเลขาธิการได้มีหนังสือในนามของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยกำหนดนัดประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 12 ตุลาคม 2540 ตามหนังสือแจ้งการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2540 และหนังสือขอเชิญร่วมประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2540 และต่อมาในวันนัดประชุมดังกล่าว คณะกรรมการบริหารได้ร่วมประชุมครบทุกคนและสมาชิกเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุมตามข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย จึงถือได้ว่าการประชุมของสมาชิกในวันที่ 12 ตุลาคม 2540 เป็นการดำเนินการจัดการประชุมโดยคณะกรรมการบริหาร ฉะนั้น การประชุมดังกล่าวจึงเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญตามข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และเมื่อการประชุมยังไม่เสร็จสิ้นโดยที่ประชุมมีมติให้เลื่อนไปนัดประชุมใหม่ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 จึงถือได้ว่าในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 เป็นวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญอีกด้วย การที่คณะกรรมการบริหาร (ชุดเก่า) ได้ลงมติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ให้เลื่อนวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญไปเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 ย่อมไม่มีอำนาจจะกระทำได้เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงมติของที่ประชุมใหญ่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม และต้องถือว่าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 ยังเป็นวันนัดประชุมใหญ่วิสามัญเช่นเดิม เมื่อปรากฏว่าโจทก์และสมาชิกอื่นๆ เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวจึงเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่ชอบด้วยข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เมื่อการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 มีองค์ประชุมครบถ้วนถูกต้องตามข้อบังคับแล้ว และที่ประชุมลงมติไม่ไว้วางใจคณะกรรมการบริหารชุดเดิมและเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ข้อ 23 (5) การที่โจทก์ในฐานะประธานกรรมการบริหารชุดใหม่นำรายชื่อคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อจำเลยเป็นการดำเนินการโดยเทียบเคียงตามนัยมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 120 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งจำเลยในฐานะนายทะเบียนตามกฎหมายจะต้องดำเนินการรับจดทะเบียนให้ การที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนรายชื่อคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ตามคำขอของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ไม่ยอมรับจดทะเบียนให้แก่โจทก์ชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งด่วนมากของจำเลยที่ รส 0607/02996 เรื่อง การขอจดทะเบียนกรรมการสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 เมษายน 2541 และให้จำเลยรับจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2540 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540.

Share