คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 41
โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท จ. และบริษัท อ. ผู้เอาประกันมาเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะนำค่าเสียหายและดอกเบี้ยที่ผู้เอาประกันแต่ละรายมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองมารวม และนำมาเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องจำเลยก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์มีมูลมาจากสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันสองรายซึ่งแยกต่างหากจากกันได้ การคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงต้องแยกพิจารณาตามสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันแต่ละรายไป
จำเลยฎีกาในประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการคำนวณค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จะได้จำนวนค่าเสียหายสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ถูกต้อง ทั้งโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องและมิได้นำสืบมาในชั้นพิจารณาว่า สินค้าพิพาทมีมูลค่า ณ ท่าปลายทางเท่าไร จึงไม่อาจคำนวณค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าเสียหาย ทั้งยังเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ข้อความในสำเนาหนังสือมอบอำนาจมิได้เจาะจงว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนผู้มอบอำนาจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายในขอบเขตที่ผู้มอบอำนาจให้ไว้ซึ่งรวมทั้งการเป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 และแม้โจทก์จะใช้หนังสือมอบอำนาจกระทำการอย่างอื่นแล้วก็ตาม ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้นำมาใช้ฟ้องคดีนี้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 250,005.53 บาท แก่โจทก์ และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 234,426 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 234,426 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด ผู้เอาประกันทั้งสองมาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะนำค่าเสียหายและดอกเบี้ยที่ผู้เอาประกันแต่ละรายมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองมารวมกันเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 250,005.53 บาท และนำมาเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก็ตาม แต่สิทธิของโจทก์มีมูลมาจากสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันสองรายซึ่งแยกต่างหากจากกันได้ ดังนี้ การคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงต้องแยกพิจารณาตามสิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันแต่ละรายไป เมื่อปรากฏว่าโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด และบริษัทอาคเนย์เกษตรกรรม จำกัด เป็นเงิน 173,329 บาท และ 61,097 บาท ตามลำดับ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2537 คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 11,519 บาท และ 4,060 บาท รวมเป็นค่าเสียหายและดอกเบี้ยแต่ละรายเป็นจำนวนเงิน 184,848 บาท และ 65,157.53 บาท ตามลำดับ ค่าเสียหายและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องที่โจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันแต่ละรายจึงไม่เกินสองแสนบาท จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง และที่จำเลยทั้งสองฎีกาในประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการคำนวณค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จะได้จำนวนค่าเสียหายสูงกว่าค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องและมิได้นำสืบมาในชั้นพิจารณาว่า สินค้าพิพาทมีมูลค่า ณ ท่าปลายทางเท่าไร จึงไม่อาจคำนวณค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าเสียหาย ทั้งยังเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อความในสำเนาหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวมิได้เจาะจงว่าให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนผู้มอบอำนาจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายในขอบเขตที่ผู้มอบอำนาจให้ไว้ซึ่งรวมทั้งการเป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 และแม้โจทก์จะใช้หนังสือมอบอำนาจกระทำการอย่างอื่นแล้วก็ตาม ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้นำมาใช้ฟ้องคดีนี้อีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์.

Share