แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการขนส่งสินค้าทางทะเลนั้น ใบตราส่งเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงว่าผู้ใดเป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าว เพราะเป็นเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับของที่ส่ง จุดหมายปลายทาง ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งตามที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้า นอกจากนี้ยังกำหนดรายละเอียดถึงชื่อหรือยี่ห้อของผู้ส่ง จำนวนค่าระวาง พาหนะ สถานที่และวันที่ออกใบตราส่ง และลายมือชื่อผู้ขนส่งด้วย จำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเดินเรือและดำเนินการพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศและในต่างประเทศ เมื่อใบตราส่งมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นใบตราส่งของจำเลย แม้จะปรากฏชื่อบริษัทย.ประทับไว้ และมีลายมือชื่อผู้จัดการอยู่ใต้ข้อความที่ระบุว่า “กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น วันที่ 19 มิถุนายน 2532” อันเป็นสถานที่และวันที่ออกใบตราส่งแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าบริษัท ย.เป็นผู้มีหน้าที่ออกใบตราส่งและเมื่อการสั่งซื้อสินค้ารายพิพาทผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่งโดยทางเรือดังนั้น ที่ปรากฏชื่อบริษัท ย. และลายมือชื่อผู้จัดการในใบตราส่งดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่บริษัท ย.โดยผู้จัดการลงชื่อในฐานะผู้ร่วมขนส่งเพื่อแสดงว่าใบตราส่งนั้นได้ออกที่ใดและเมื่อใดเท่านั้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยและบริษัท ย.ร่วมกันขนส่งสินค้ารายพิพาท
การขนส่งสินค้ารายพิพาทแม้เรือที่ขนส่งเข้าเทียบท่าแล้ว แต่ก่อนที่ผู้รับตราส่งจะรับมอบสินค้าจากนายเรือไป ยังมีขั้นตอนต่อไปคือ การตรวจสอบจำนวนเพื่อให้ตรงกับใบตราส่ง และตรวจสอบความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งในการที่สินค้ารายพิพาทสูญหายหรือบุบสลายคงมีอยู่ตลอดเวลาที่การตรวจสอบสินค้านั้นยังไม่เสร็จสิ้น การที่เรือขนส่งสินค้ารายพิพาทเข้าเทียบท่าและผู้รับตราส่งรับสินค้ามาเพื่อตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่ามีสินค้าขาดจำนวนไปเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อนอันจะทำให้ความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งสิ้นสุดลง เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
แม้เรือจะขนสินค้ารายพิพาทมาถึงเมืองท่าปลายทางเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2532 และผู้รับตราส่งขอรับสินค้าในวันดังกล่าว แต่ก็ยังมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติต่อไปคือการตรวจสอบจำนวนและคุณภาพของสินค้าเพื่อให้ตรงกับใบตราส่ง รวมทั้งตรวจสอบความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าด้วย ดังนี้ ตราบใดที่ผู้รับสินค้ายังตรวจสอบสินค้าเพื่อรับมอบสินค้าไม่เสร็จสิ้นจะถือว่าได้มีการส่งมอบหรือควรจะได้ส่งมอบสินค้าแล้วหาได้ไม่ เมื่อผู้รับตราส่งตรวจสอบและรับมอบสินค้าเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 อายุความฟ้องร้องผู้ขนส่งให้รับผิดในกรณีที่ของสูญหายหรือบุบสลายจึงต้องเริ่มนับจากวันตรวจสอบและรับมอบสินค้าเสร็จสิ้นดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่3 กรกฎาคม 2533 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทสำหรับกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยรับขนของทางทะเล และไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเช่นว่านั้นใช้บังคับในขณะนั้น
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจำนวน 279,088.29 บาทซึ่งจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 6,977.50 บาท แต่ศาลชั้นต้นคิดคำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยยื่นฎีการวมเข้าไปเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจำนวน 346,313.22 บาท ด้วย และให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 8,657.50 บาท จำเลยจึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกินมา 1,680 บาท ศาลฎีกาชอบที่จะสั่งให้คืนเงินที่ชำระเกินมาดังกล่าวแก่จำเลยได้