คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านพิพาทซึ่งทำในวันเดียวกันกับวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ว่าจ้าง น.เป็นผู้รับจ้างจำเลยที่ 2 ได้จัดทำสัญญามาเรียบร้อยแล้วนำมาให้โจทก์ลงชื่อโดย น.ไม่ได้อยู่ด้วย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ้านพิพาท ในการซื้อที่ดินและบ้านพิพาทได้ตกลงกันว่า เมื่อจะโอนที่ดินและบ้านต้องเอาที่ดินและบ้านพิพาทจำนองธนาคารก่อน แล้วเอาเงินจากธนาคารมาชำระค่าที่ดินและบ้านส่วนที่ยังเหลือแก่จำเลยที่ 1 จากนั้นโจทก์จะเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้ต่อธนาคารที่ยังชำระค่าบ้านไม่ครบเพราะยังสร้างบ้านไม่เสร็จ ข้อความต่าง ๆ ในหนังสือสัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านพิพาท โจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่จำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตกลงว่าจ้าง น.ทำการก่อสร้าง การระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างก่อสร้างบ้านจึงถือว่ากระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น บ้านพิพาทที่ น.รับจ้างก่อสร้างจึงเป็นบ้านของจำเลยที่ 1 ที่ตกลงจะขายให้แก่โจทก์
การก่อสร้างบ้านพิพาทแล้วเสร็จก่อนโจทก์ฟ้องราวปีเศษและโจทก์ยังค้างชำระค่าก่อสร้างบ้านพิพาทอีกประมาณ 200,000 บาท เมื่อโจทก์เข้าไปอยู่ในบ้านพิพาทแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ทวงถามให้โจทก์ชำระค่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นเงิน 300,000 บาท การที่โจทก์ได้ไปสำนักงานที่ดินในวันนัดจดทะเบียนโอน แต่เตรียมเงินไปเพียง 70,000 บาท ซึ่งไม่พอชำระค่าที่ดินและบ้านพิพาทถือว่าโจทก์มิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินในวันนัดดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดหรือผิดสัญญา
โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 และยังค้างชำระราคาค่าที่ดินและบ้านพิพาทจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน300,000 บาท โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งซึ่งถือว่าโจทก์ผิดนัดแล้ว และเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนด้วยจำเลยทั้งสองยินยอมให้โจทก์เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการละเมิดจำเลยทั้งสอง ส่วนในกรณีที่หากโจทก์ไม่ชำระเงินค่าที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องของการผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างไร ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาจากโจทก์เป็นอีกกรณีหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1อันจะทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งได้

Share