คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศของจำเลยที่ปลดโจทก์ออกจากงาน จำเลยอ้างเหตุเพียงว่าโจทก์ละทิ้งการปฏิบัติงานเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในประกาศเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จำเลยจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ ดังนั้นจำเลยจะยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลเพื่อที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ แม้ประเด็นข้อนี้ศาลแรงงานวินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ ได้แก่ 1.เล่นการพนัน 2.ดื่มสุราในโรงงาน 3.ทะเลาะวิวาทในโรงงาน 4.ปั๊มบัตรบันทึกเวลาแทนกัน ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่ไปดื่มสุราที่บ้านพักของโจทก์ที่ 5 โดยโจทก์ทั้งแปดมิได้ดื่มสุราในโรงงาน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน อันเป็นกรณีที่ร้ายแรง ดังนี้จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ได้
คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งโดยทั่วไปการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวก ประหยัดและรวดเร็ว เมื่อจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 วรรคท้าย กรณีจึงนำ ป.วิ.พ.มาตรา 178 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้
ศาลแรงงานนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ในวันนัดดังกล่าวจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้ง แต่ศาลแรงงานมิได้สืบพยานโจทก์ ทั้งได้เปลี่ยนหน้าที่นำสืบเป็นกำหนดให้จำเลยนำสืบพยานก่อน โดยเลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวันนัดโจทก์จึงได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แม้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหลังจากครบ 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้

Share