แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยถูกเวนคืนที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 ถ้าจำเลยไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นเพื่อขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นได้ ดังนี้กิจการที่จำเลยตกลงว่าจ้างให้โจทก์กระทำการยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อขอค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นนั้น จึงเป็นกิจการที่ชอบด้วยกฎหมายตามสิทธิของจำเลยในอันที่จะขอความเป็นธรรมต่อทางราชการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้
ส่วนข้อตกลงที่ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างยินยอมชำระสินจ้างให้แก่โจทก์ผู้รับจ้างในการที่ผู้รับจ้างดำเนินการทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น โดยผู้ว่าจ้างจะชำระสินจ้างให้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินค่าทดแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้รับจ้างมิได้เรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อันมีความหมายว่า โจทก์ผู้รับจ้างเป็นผู้รับดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายเพื่อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้จำเลยได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอันเนื่องมาจากที่ดินของจำเลยถูกเวนคืน ถ้าจำเลยไม่ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้น เงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ออกให้จำเลยก็ไม่ต้องคืนแก่โจทก์แต่ถ้าจำเลยได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่ม จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการที่จำเลยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นแก่โจทก์ เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587ตามปกติ และหาได้มีลักษณะเป็นการหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน หรือยุยงให้ผู้อื่นเป็นความกันไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นตามกฎหมายอยู่แล้ว และจำเลยประสงค์จะได้ค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นโจทก์และจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะตกลงกำหนดสินจ้างในงานที่ทำนั้นได้ ไม่มีกฎหมายห้ามและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 223 ทวิ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะแล้ว จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฏหมายของโจทก์เช่นนี้ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ.ตาราง 1ข้อ 2 (ก)