แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงซึ่งระบุข้อความว่า “…ขอมอบอำนาจช่วงให้ พ. และ/หรือ ส. …เป็นผู้ดำเนินคดีแพ่งฟ้องร้องช. ที่ 1 ว. ที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในข้อหาหรือฐานความผิดเรื่องสัญญากู้ยืมเงินเบิกเงินเกินบัญชี (บัญชีเดินสะพัด) สัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน บังคับจำนำ บังคับจำนอง ตั๋วเงิน เรียกดอกเบี้ยค้าง เรียกค่าเสียหาย เบี้ยปรับ และค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการผิดสัญญาต่าง ๆ แทนบริษัท และให้มีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีและแก้ต่างคดีของบริษัท ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีแรงงาน คดีภาษีอากร และคดีล้มละลาย มีอำนาจทวงถาม บอกกล่าวจำนอง ดำเนินการบังคับจำนอง ตลอดจนดำเนินการใด ๆ ในชั้นบังคับคดีจนเสร็จการ ขอรับเงินหรือเอกสารจากศาลหรือองค์การของรัฐตลอดจนคู่ความ รวมทั้งให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิของบริษัทได้ เช่นการยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายเรียกร้อง การถอนฟ้องการประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ การมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจมอบอำนาจช่วงต่อไปให้บุคคลอื่นเข้ากระทำการแทนอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างหรือทุกอย่างตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจนี้…” ดังนี้ ข้อความที่ว่า…มอบอำนาจช่วงให้ พ. และ/หรือ ส.เป็นผู้ดำเนินคดีแพ่งฟ้องร้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้กับมีข้อความอื่นตามที่ระบุข้างต้นนั้น เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียวตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ข) ซึ่งกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท มิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างกระทำกิจการแยกกันคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ค) ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์คนละ 30 บาท เมื่อหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวปิดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงครบถ้วนบริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากรแล้ว ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน