คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นสัญญาให้บริการที่โจทก์ได้ทำกับจำเลยซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล โดยสัญญานั้นได้ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535และมีงานให้บริการตามสัญญาส่วนที่เหลือที่จะต้องปฎิบัติตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2535 ต่อไปอีก โจทก์จึงมิได้รับยกเว้นที่จะยังคงเสียภาษีการค้าต่อไปสำหรับค่าตอบแทนจากการให้บริการหลังวันที่ 1 มกราคม 2535 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมีหน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น กรณีที่ได้มี พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 249) พ.ศ.2535 ซึ่งประกาศใช้ในภายหลังได้บัญญัติไว้มาตรา 3 ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งป.รัษฎากร ที่ได้ยื่นซองประกวดราคาหรือให้บริการกับกระทรวงทบวงกรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 ในการที่จะเลือกเสียภาษีการค้าตามบทบัญญัติหมวด 4 ภาษีการค้า ในลักษณะ 2 แห่ง ป.รัษฎากรก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ.2534 หรือเลือกที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องใช้สิทธิเลือกเสียภาษีการค้าหรือภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดระยะเวลาเท่าใดและวิธีการอย่างไร ที่โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าประจำเดือน กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และกรกฎาคม2535 ก็ได้ความว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ ได้หักภาษีการค้ารวมทั้งภาษีบำรุงท้องถิ่น จากเงินที่จ่ายแก่โจทก์เมื่อวันที่ 4 และ 5 กุมภาพันธ์2535 สำหรับงานงวดที่ 14, 18 และ 19 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 สำหรับงานงวดที่ 17, 20 และ 21 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 สำหรับงานงวดที่ 2,25 และ 26 โดยจำเลยได้ออกใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้โจทก์ แต่ต่อมาโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรที่จำเลยหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งอำเภอท้องที่จากกรมสรรพากรแล้ว เช่นนี้ การยื่นแบบแสดงรายการการค้าประจำเดือนภาษีกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และกรกฎาคม 2535 ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเลือกชำระภาษีการค้าสำหรับรายรับค่าบริการ (ค่าก่อสร้าง)ตาม พ.ร.ฎ.ออกความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 249) พ.ศ.2535 แต่การที่โจทก์มีหนังสือขอแจ้งการใช้สิทธิเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มถึงจำเลย ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2535 และวันที่ 16 พฤศจิกายน2535 และโจทก์ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าจ้างสำหรับเดือนภาษีดังกล่าวแก่กรมสรรพากร ตามแบบแสดงการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเลือกที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างที่รับจากจำเลยผู้รับบริการตามมาตรา 82/4 แห่งป.รัษฎากร แต่จำเลยไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ และโจทก์ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าจ้างสำหรับงานงวดที่ 12 ถึง 14 งวดที่ 17ถึง 30 และค่าจ้างที่มีการปรับราคา (ค่าเค) สำหรับงานงวดที่ 10, 22, 25และ 26 ให้แก่กรมสรรพากรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระดังกล่าวจากจำเลย
ค่าก่อสร้างตามสัญญามีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่เพราะใบเสนอราคาของโจทก์ที่เสนอต่อจำเลยในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารได้ระบุว่ามีค่าภาษีรวมอยู่ด้วย จึงน่าเชื่อว่าค่าก่อสร้างที่โจทก์คิดจากจำเลยมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย แต่ในเวลาทำสัญญาจ้างคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบว่าจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.รัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 ที่ให้ยกเลิกภาษีการค้าและนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับแทนภาษีการค้า จึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยได้รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในค่าก่อสร้าง แต่ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 79 ฐานภาษีสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตภาษีด้วย เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จึงต้องคำนวณจากค่าจ้างซึ่งมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย ฉะนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นมาหักออกจากค่าจ้างก่อนที่จะคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ดีเมื่อค่าจ้างดังกล่าวมีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นอัตราร้อยละ 3.3 รวมอยู่ด้วย ทั้งโจทก์ก็มีสิทธิได้รับภาษีดังกล่าวนี้คืนจากกรมสรรพากร เพื่อความเป็นธรรม จึงให้นำภาษีดังกล่าวมาหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 คงให้จำเลยรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ 3.7 ของยอดเงินค่าจ้าง
สำหรับค่าจ้างปรับราคา (ค่าเค)เป็นค่าชดเชยที่ส่วนราชการจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างขึ้นราคาหรือขาดแคลน ไม่ใช่ค่าชดเชยที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามมาตรา 79 วรรคสาม (2) แห่ง ป.รัษฎากร ค่าชดเชยดังกล่าวจึงยังถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการเรียกภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 สำหรับค่าชดเชยดังกล่าวจากจำเลย ทั้งนี้โดยไม่หักภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นอัตราร้อยละ 3.3 ออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ก่อนคำนวณ เพราะค่าจ้างปรับราคาดังกล่าวมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์เสนอแก่จำเลยตั้งแต่ต้นจึงไม่มีภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย
โจทก์จะมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อหรือนำภาษีซื้อที่ถูกผู้ประกอบการอื่นที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียกเก็บไปแล้วมาหักจากภาษีขายได้หรือไม่นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตาม ป.รัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในอันที่จะเรียกร้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการมีหน้าที่ต้องชำระ ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกจากจำเลย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ผิดนัดจึงไม่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ในเรื่องดอกเบี้ยจำเลยคงให้การต่อสู้เพียงว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญา และไม่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เท่านั้น จำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ให้เป็นประเด็นในคำให้การว่า จำเลยมิได้ผิดนัดยังไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528มาตรา 29 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
หนี้ค่าภาษีที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้กู้เงินจากธนาคารนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปีนั้น ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว และไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่โจทก์อาจเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ดอกเบี้ยได้สูงกว่าที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 224 โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น
โจทก์เพิ่งแจ้งการใช้สิทธิเลือกเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและขอเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยค้างจ่ายนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ตามหนังสือของโจทก์ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จำเลยได้รับหนังสือของโจทก์ในวันเดียวกัน เมื่อจำเลยไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ จึงถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างของงานงวดที่ 14 งวดที่ 17 ถึง 22งวดที่ 25 ถึง 26 และค่าจ้างที่มีการปรับราคา (ค่าเค) สำหรับงานงวดที่ 10ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2535 ต้องใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นับตั้งแต่วันดังกล่าวส่วนค่าจ้างสำหรับงานงวดอื่น ๆ ที่ต้องชำระหลังจากวันที่ 15 ตุลาคม 2535เมื่อจำเลยไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ก็ย่อมถือว่าจำเลยผิดนัดนับตั้งแต่วันที่มีการชำระค่าจ้างจำเลยต้องใช้ดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นนับแต่วันผิดนัดชำระค่าจ้างแต่ละงวด
การให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิพากษาเช่นนั้นได้ตามป.วิ.พ.มาตรา 161 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ศาลภาษีอากรกลางจึงชอบที่พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับได้ แม้ว่าจะตัดสินให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีก็ตาม

Share