แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โดยปกติศาลเป็นผู้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาใช้บังคับแก่คดีจึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่เพียงใด เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสถาบันอื่นโดยเฉพาะ ฉะนั้นเมื่อมีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดบทกฎหมายใดว่าจะแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เสียแล้ว อำนาจหน้าที่ชี้ขาดนี้จึงตกอยู่ที่ศาลยุติธรรมดังเดิม
ในการพิจารณาว่าบทกฎหมายใดมีผลบังคับใช้ได้หรือไม่เพียงใดนั้น เป้นการพิจารณาถึงบทกฎหมายนั้นเมื่อขณะประกาศออกใช้บังคับ หาใช่เฉพาะแต่เวลาที่ยกขึ้นใช้บังคับ หาใช่เฉพาะแต่เวลาที่จะยกขึ้นใช้บังคับแก่คดีหนึ่งคดีใดไม่ เพราะถ้าบทกฎหมายใดใช้บังคับมีได้แล้ว ก็ย่อมจะใช้บังคับมิได้มาแต่เริ่มแรก หาใช่เพิ่งจะมาใช้บังคับมีได้เอาเมื่อจะยกขึ้นบังคับแก่คดีใดโดยเฉพาะไม ่ ฉะนั้นการที่ศาลวินิจฉัยว่า มาตรา 5 แห่งราชบัญญัติเวนคืน ฯ พ.ศ. 2495 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ไม่มีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 113 จึงกระทำได้โดยชอบหาใช่เป็นการที่ศาลเองจะมากำหนดให้รัฐธรรมนูญมาตรา 29 ใช้บังคับได้อยู่ อันเป็นการขัดแย้งกับประกาศคณะปฏิวัติไม่.
ข้อกฎหมายเกี่ยวกับบทกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่มีความสำคัญมากยิ่งนัก และเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยตรง แม้คู่ความจะมิได้ยดขึ้นกล่าวอ้าง ก็สมควรที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตัน พ.ศ. ๒๔๙๖ เวนคืนที่ดินของโจทก์โฉนดที่ ๕๙๗๔ ไปส่วนหนึ่ง เนื้อที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๖ ตารางวาให้แก่จำเลยที่ ๑ , จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเสนอให้ราคาที่ดินแก่โจทก์ตารางวาละ ๒๐ บาท ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเวนคืน ฯ ส่วนโจทก์เรียกร้องตารางวาละ ๔๕๐ บาท จึงไม่อาจตกลงกันได้ทั้งสองฝ่ายตกลงตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดเงินค่าทดแทนตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติเวนคืน ฯ อนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยกำหนดให้ตารางวาละ ๒๐ บาท ฝ่ายโจทก์ให้ ๓๙๐ บาท ไม่อาจปรองดองกันได้ จึงตั้งประธานอนุญาโตตุลาการขึ้นชี้ขาดอีก ประธานอนุญาโตตุลาการชี้ขาดกำหนดค่าทดแทนในตารางวาละ ๓๙๐ บาท โจทก์จำเลยทราบคำชี้ขาดแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม จึงขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการ ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๐๓ ให้จำเลยทั้งสองใช้เงินค่าทดแทนและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามพระราชบัญญัติเวนคืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓๐ ด้วย
จำเลยให้การว่า คำชี้ขาดของประธานอนุญาโตตุลาการขึดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติเวนคืนฉบับนี้ มาตรา ๕ กำหนดค่าทำขวัญ คือ ค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว การที่จำเลยเสนอราคาให้ตารางวาลั ๒๐ บาท จึงเป็นธรรมตามกฏหมายแล้ว จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เพราะกรณีไม่เข้าลักษณะความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติเวนคืน
ศาลชั้นต้นสอบโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าคดีไม่จำต้องสืบพยาน ให้งดเสียแล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ เพราะเป้นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ หาจำต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใดไม่ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดใช้เงินทดแทนแก่โจทก์ตารางวาละ ๓๙๐ บาท ตามคำชี้ขาดของประธานอนุญาตโตตุลาการกับให้จำเลยที่ ๑ เสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้ในที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า โดยหลักกฎหมายทั่วไปและหนักการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลเป็นผู้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาใช้บังคับแก่คดีศาลจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดหรือบทหนึ่งบทใดจะใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่เพียงใด เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดโดยเฉพาะบัญญัติให้อำนาจหน้าที่นี้ตกอยู่แก่สถาบันอื่นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ ในระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕ มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๔ ให้ศาลส่งความเห็นของศาลที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อมาก่อนที่ศาลจะได้พิพากษาคดีนี้ ได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓ ยกเลิกรัฐธรรมนูญดังกล่าว ฉะนั้น ในขณะที่ศาลจะพิพากษาคดีนี้ จึงไม่มีบทบัญญัติของบทกฎหมายใดที่ให้อำนาจหน้าที่ตกอยู่ที่ศาลยุติธรรมดังเดิมเหตุนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าในขณะนี้ ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าบาทกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และใช้บังคับได้หรือไม่เพียงใด
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๙ (รัฐย่อมเคารพต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนฯ) ก็ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับมาตรา ๑๑๔ จึงต้องสิ้นผลบังคับไปดุจกันนั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าบทกฎหมายใดมีผลบังคับใช้ได้หรือไม่เพียงใดนั้น เป็นการพิจารณาถึงบทกฏหมายนั้นเมื่อขณะประกาศออกใช้บังคับ หาใช่เฉพาะแต่เวลาที่จะยกขึ้นใช้บังคับแก่คดีหนึ่งคดีใดไม่ เพราะถ้าบทกฎหมายใดใช้บังคับมิไดด้แล้วก็ย่อมจะใช้บังคับมิได้มาแต่เริ่มแรก หาใช่เพิ่งจะมาใช้บังคับมิได้เอาเมื่อจะยกขึ้นบังคับแก่คดีใดโดยเฉพาะไม่ คดีนี้ พระราชบัญญัติเวนคืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕ บัญญัติให้ค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ ๒๐ บาทนั้น ได้ประกาศใช้บังคับในขณะที่มาตรา ๒๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕ มีมีผลใช้บังคับอยู่ และในขณะเดียวกันนี้ มาตรา ๑๑๓ แห่งรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ” ก็มีผลใช้บังคับอยู่ ฉะนั้น การที่ศาลวินิจฉัยว่ามาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเวนคืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๖ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๙ ไม่มีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๑๑๓ จึงกระทำได้โดยชอบและหาใช่เป็นการที่ศาลเองจะมากำหนดให้รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๙ ใช้บังคับได้อยู่ อันเป็นการขัดแย้งกับประกาศคณะปฏิวัติดังจำเลยฎีกาไม่ อนึ่ง การที่ศาลวินิจฉัยเช่นี้ ก็หาใช่เป็นการที่ศาลไปยกเอากฏหมายที่ยกเลิกไปแล้วมาเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีดังจำเลยฎีกาไม่ หากแต่ศาลวินิจฉัยว่า บทกฎหมายที่จำเลยขอให้ยกขึ้นปรับแก่คดีในเวลานี้นั้น เป็นบทกฎหมายที่ไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่เริ่มประกาศใช้แล้ว จึงยกขั้นปรับแก่คดีนี้มิได้ เท่านั้น
สำหรับข้อที่ว่า ศาลมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นนี้หรือไม่ เพราะคู่ความมิได้ยกขึ้นแล่าวอ้างหรือโต้เถียงขึ้นมานั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกฎหมายนี้มีความสำคัญมาก และเกี่ยวกับความสงบเรียบรอ้ยของประชาชนโดยตรง แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ก็สมควรแล้วที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัย
ฯลฯ
พิพากษายืน