คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 376/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการควบคุมค่าเช่า ฯลฯมีอำนาจแต่เฉพาะการเช่าที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯลฯ ฉะนั้น ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยย่อมได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.ม.กฎหมายแพ่ง ฯ ไม่ใช่เรื่องของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ มติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าที่ให้ความยินยอมแก่ผู้ให้เช่าเข้าอยู่ในเคหะที่เช่าเองได้นั้น ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ให้เช่า
เอกสารรับเงินค่าเซ้งบ้าน มีข้อความเริ่มต้นระบุว่าผู้รับเป็นเจ้าของบ้านได้รับเงินค่าเซ้งบ้านจำนวนหนึ่งไว้แล้ว และมีข้อความว่า ให้สัญญาว่าบ้านหลังนั้นจะให้ผู้ชำระเงินเช่า คิดค่าเช่าเดือนละ 40 บาทไปจนกว่าจะหมดความต้องการแล้วลงชื่อผู้เช่าและพยาน ดังนี้ถือว่าเอกสารนี้เป็นสัญญษเช่าแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าเคหะเป็นที่อยู่อาศัยโดยไม่มีหนังสือสัญญาเช่าต่อกัน โจทก์มีความจำเป็นจะเข้าอยู่อาศัยและคณะกรรมการควบคุมค่าเช่า ฯ ให้ความยินยอมแล้ว จำเลยไม่ยอมออก จึงขอศาลบังคับให้ขับไล่ ให้ชำระค่าเช่าที่ค้างกับค่าเสียหายต่อไป
จำเลยต่อสู้ว่า การเช่ามีหนังสือ โจทก์สัญญาว่าจะให้จำเลยเช่าได้ตลอดไปจนกว่าจะหมดความต้องการ มติคณะกรรมการฯ เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นฟังว่า เอกสารหมาย ล.๑ ที่จำเลยอ้างไม่ใช่สัญญาเช่าบ้าน การเช่ารายนี้ไม่มีหนังสือ โจทก์ขอค่าเช่าที่ค้างไม่ได้พิพากษาให้ขับไล่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า เอกสารหมาย ล.๑ เป็นสัญญา และมติคณะกรรมการเป็นโมฆะ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว เอกสารหมาย ล.๑ มีความดังต่อไปนี้ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔++
ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ ๕๐๔ ซึ่งอยู่ในตรอกไชยา ตำบลดุสิต อำเภอดุสิต พระนคร ได้รับเงินค่าเซ้งบ้านซึ่งเป็นของข้าพเจ้าจากพันตำรวจโท หลวงจิตต์การุณราษฎร์ไว้เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) ไว้ตั้งแต่วันนี้แล้ว และให้สัญญาว่าเรือนเลขที่ ๕๐๕ นี้จะให้พันตำรวจโท หลวงจิตต์การุณราษฎร์ เช่าคิดเป็นค่าเช่าเดือนละ ๔๐ บาท (สี่สิบบาท) ไปจนกว่าจะหมดความต้องการ
ลงชื่อ พิมพ์มือนางทองเจือ อ่มโอลาน เจ้าของผู้ให้เช่า
” พ.ต.ท.หลวงจิตต์การุณราษฎร์ ผู้เช่า
” แกร มั่งเจริญ พยาน
” เทียบ อุทัยเวช ”
” ชลิน ศราภัยวานิช ” ฯลฯ
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารหมาย ล.๑ นี้เป็นสัญญาเช่า เพราะเริ่มต้นด้วยระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้าน ได้รับเงินค่าเซ้งบ้านซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า รับเช่าต่อไป มีกำหนดค่าเช่าเป็นรายเดือน ทั้งมีกำหนดเวลาเช่า โจทก์พิมพ์มือโดยลงตำแหน่งกับคำว่าเจ้าของผู้ให้เช่า แต่การเช่ารายนี้เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมิได้จดทะเบียน ก็มีผลใช้ได้เป็นเวลา ๓ ปี คณะกรรมการควบคุมค่าเช่าฯ มีอำนาจแต่เฉพาะการเช่าที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะขับขัน ฉะนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่า จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.ม.แพ่งฯ ไม่ใช่เรื่องของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ฯ มติของคณะกรรมการจึงหาประโยชน์แก่โจทก์ไม่
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share