แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตามประมวลวิธีพิจารณาแพ่งมาตรา 248 วรรค 2 นั้น หมายถึงต้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวแท้ ๆ ปัญหาที่ว่าจะได้ส่วนแบ่งมากหรือน้อยและทรัพย์มีอยู่ที่จำเลยเท่าใดจะฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้
โจทก์ฟ้องเรียกมฤดกจากจำเลย ๆ ต่อสู้ว่าเป็นสามีผู้ตายดังนี้ ไม่ถือว่าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวหญิงชายอยู่กินด้วยกันมาก่อนจนมีครรภ์ขึ้นแล้ว เมื่อบิดาหญิงตาย หญิงชายจึงทำพิธีอยู่กินด้วยกันโดยเปิดเผยในเวลาก่อนประมวลแพ่งฯ บรรพ 6 ถือว่าเป็นผัวเมียกันถูกต้องตามกฎหมายได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มฤดกของผู้ตายซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดากับโจทก์โดยว่าทรัพย์นั้นอยู่ที่จำเลย จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยเป็นสามีผู้ตาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้รับเพียงส่วนแบ่งในจำนวนทรัพย์เท่ารที่ฟังข้อเท็จจริงว่ามีอยู่เป็นมฤดก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่ว่า รับเป็นฎีกาเพราะเป็นสิทธิเกี่ยวกับครอบครัวตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๘ วรรค ๒
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๘ ห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงสำหรัคดีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๒๐๐๐ บาท เว้นแต่จะเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวนั้นต้อบเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวแท้ ๆ แต่คดีได้พิพาทกันด้วยทรัพย์มฤดกอันมีราคาแน่นอนไม่เกิน ๒๐๐๐ บาท คงมีข้อต่อสู้ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า จำเลยเป็นสามีเจ้ามฤดกตามกฎหมายหรือไม่ รูปคดีแท้ๆก็พิพาทกันเรื่องฝากทรัพย์มฤดกว่า โจทก์จะได้ส่วนแบ่งมฤดกมากหรือน้อย และทรัพย์มฤดกมีอยู่ที่จำเลยเท่าใดแน่นั่นเอง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นสามีเจ้ามฤดกหรือไม่หาทำให้คดีกลายรูปเป็นคดีเกี่ยวแก่สิทธิในครอบครัวขึ้นไม่ ฎีกาโจทก์ต้องห้ามในข้อเท็จจริง ในข้อกฎหมายนั้นเห็นว่า จำเลยกับผู้ตายได้เสียกันเองมาก่อน เมื่อต้น พ.ศ.๒๔๗๘ บิดาผู้ตายตายครั้นทำศพเสร็จแล้ว จำเลยกับผู้ตายก็รีบจัดขัดหมากทำพิธีไหว้ผีแสดงการเป็นผัวเมียกันในเดือนกันยายนปีนั้นเอง โดยขณะนั้นผู้ตายได้ตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้ว เมื่อจำเลยกับผู้ตายอยู่กินกันฉันผัวเมียและแสดงออกดังกล่าวแล้ว ก็เป็นผัวเมียกันตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้น จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์