แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเป็นความผิดตาม ม.296-60 แต่อ้างมาตรา 293-60 ดังนั้น ศาลลงโทษจำเลยตาม ม.296-60 ไม่ได้ เป็นการเกินคำขอต้องลงโทษตาม ม.293-60
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์จำเลยรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพยายามลักสุกร ๖ ตัวของนายสวัสดิ์ แต่มีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางเสีย จำเลยจึงทำการลักไม่สำเร็จ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ความผิดของจำเลยต้องด้วย ก.ม.อาญามาตรา ๒๙๓-๖๐ ก็ดี ศาลมีอำนาจยกมาตรา ๒๙๖ มาลงโทษจำเลยโดยวางอัตราโทษไม่เกินกำหนดในมาตรา ๒๙๓ ได้ ตาม ป.วิ.มาตรา๑๔๒ วรรค ๔ จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ๒ ปี ลดตาม ม.๕๙ กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๓-๖๐ ที่ศาลชั้นต้นวางมาตรา ๒๙๖-๖๐ นั้นเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๔๒ วรรค ต้น จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๒๙๓-๖๐ จำคุก ๑ ปี รับลดกึ่งตาม ม.๕๙ คงจำคุก ๖ เดือน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า หลักสำคัญของการพิพากษา คดีหลักหนึ่งคือการไม่พิพากษาเกินคำขอ ซึ่งวรรคแรกแห่งมาตรา ๑๙๒ ป.วิ.อ.ได้บัญญัติไว้แล้ว
ส่วนวรรค ๔ นั้นสำหรับในกรณีที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ คดีนี้โจทก์อ้างฐานความผิดถูกต้อง แต่คงพลั้งเผลออ้างมาตราผิดไป ซึ่งไม่เข้าบทบัญญัติแห่งวรรค ๔ จึงพิพากษายืน