แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ในวันตามฟ้องต่อเนื่องกันนั้น เป็นคดีที่เกี่ยวกันพันตามความในมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ฉะนั้น เมื่อมีการฟ้องคดีในข้อหาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อศาลพลเรือนแล้ว ศาลพลเรือนย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในข้อหาฐานลักทรัพย์ที่ฟ้องรวมกันมาด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่คนได้ร่วมกันกระทำผิดอาญาหลายบทหลายกระทง คือ จำเลยที่ ๑, ๒ และ ๓ โดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันมีปืน ขวานและแชลงเหล็กเป็นอาวุธ บังอาจเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานในความครอบครองของโจทก์แล้วได้รื้อทำลายและเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔, ๓๕๘, ๓๖๔ และ ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับรับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ฐานทำให้เสียทรัพย์ ให้ปรับจำเลยที่ ๑ ๒๐๐ บาท ให้ยกฟ้องคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒, ๓ และ ๔ ข้อหาอื่นนอกจากข้อหาลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร โจทก์นำมาฟ้องไม่ได้ ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้น เป็นฟ้องที่มีข้อหาว่าจำเลยทำผิดฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ ในวันตามฟ้องแต่ละวันต่อเนื่องโดยกรรมเดียวกัน คดีในข้อหาเหล่านี้จึงเป็นคดีที่เกี่ยวกันพันตามความในมาตรา ๑๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อมีการฟ้องคดีในข้อหาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ต่อศาลพลเรือนแล้ว ศาลพลเรือนย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในข้อหาลักทรัพย์ทรัพย์ที่ฟ้องรวมกันมาด้วย โดยจะต้องปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖ ประกอบกับพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ จะนำประกาศคณะปฏิวัติ ฯลฯ มาบังคับแต่อย่างเดียวหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลจังหวัดสิงห์บุรีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในข้อหาฐานลักทรพัย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้ ให้ศาลจังหวัดสิงห์บุรีดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาฐานลักทรัพย์นั้นต่อไป