แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 กฎหมายมิได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า เมื่อปรากฎว่าผู้ใดมีสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกักหรือเป็นลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร หากแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พบเห็น ข้อนี้เป็นข้อสันนิษฐานข้อแรกส่วนข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่มีสิ่งนั้นไว้ในครอบครอง เป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำเข้ามาเป็นการลักลอบหนีศุลกากรนั้น เป็นเพียงผลที่สืบเนื่องจากข้อสันนิษฐานข้อแรกนั้น เมื่อแปลความหมายดังนี้ จึงเห็นว่าข้อเท็จจริงที่จะจดแจ้งลงในบันทึกนั้น อย่างน้อยจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นพยานประพฤติเหตุแวดล้อมพอจะแสดงเค้ามูลว่า ผู้มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร
บันทึกการดูของกลางว่าได้มีการขายของกลางไปจากร้าน จึงมีลักษณะเป็นเพียงบันทึกดูของกลางอย่างในคดีอื่น ๆ ทั่วไป หาได้มีลักษณะเป็นบันทึกอันจะก่อนให้เกิดข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2497 (ฉบับที่ 12)ไม่ ฉะนั้น เรื่องหน้าที่นำสืบ การวินิจฉัยพยานหลักฐานย่อมเป็นไปตามหลักที่ใช้ทั่วไปแก่คดีอาญาทั้งปวง คือ โจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยและจะลงโทษจำเลยก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานพอให้ฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
คดี ๓ สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณารวมกัน
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่าจำเลยแต่ละคนบังอาจมี รับ รับฝาก ช่วยซ่อนเร่น รับซื้อ ทองคำรูปพรรณ ซึ่งเป็นสินค้าอันคนรู้ว่าเป็นของที่นำมาจากประเทศลาวโดยมิได้เสียภาษีศุลกากรผ่านด่านให้ถูกต้อง และมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๔ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๑๖,๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓(ฉบับที่ ๑๒)พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๐(ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔ ให้ริบของกลาง ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า นางหนูจันทร์ นางคำหวัน ผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯ ที่โจทก์อ้าง ให้จำคุกนางหนูจันทร์จำเลย ๓ เดือน นางคำหวันจำเลย ๖ เดือน แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดคนละ ๒ ปี ทองรูปพรรณของกลางริบ ส่วนนางอรุณศรีจำเลยพิพากษายกฟ้องโจทก์ ทองรูปพรรณของกลางให้คืน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษนางอรุณศรีจำเลย
นางหนูจันทร์และนางคำหวันจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องปล่อยนางหนูจันทร์นางคำหวันจำเลยด้วย คืนทองรูปพรรณที่จับได้จากจำเลย ๒ คนนี้ให้จำเลยไป และให้ยกอุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ลงโทษนางอรุณศรีนั้นเสีย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษนางหนูจันทร์นางคำหวันจำเลยตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้อ้างพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๑๐ มาท้ายฟ้องด้วย และศาลชั้นต้นได้ยึดถือเอาบันทึกที่ร้อยตรีประสงค์ไปทำการบันทึกถ้อยคำของเจ้าของร้านค้าทอง “ไท้ฮงล้ง” และร้าน”เฮียเซ่งฮวด” หรือ “เซ่งจุ่น” ในนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว ซึ่งอ้างว่าได้จำหน่าย+ทองรูปพรรณของกลางให้แก่คนไทยมาเป็นข้อยืนยันความจริงว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าวบันทึกดังกล่าวนี้นั้นไม่ใด้อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๔๙๗ และคำของผู้บันทึกจึงเป็นพยานบอกเล่า ศาลฎีกาเห็นสมควรพิเคราะห์ปัญหาข้อนี้เสียก่อนว่า มีข้อสันนิษฐานตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๐ อันเป็นคุณแก่โจทก์หรือไม่ มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าปรากฎว่าผู้ใดมีสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัดหรือเป็นสิ่งลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ให้อธิบดี พนักงานศุลกากรผู้ได้รับแต่ตั้งเป็นพิเศษจากอธิบดี พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจบันทึกข้อเท็จจริงที่ตนเองได้พบเห็น บันทึกนี้ให้เสนอต่อศาลในเมื่อมีการดำเนินคดี
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าาเป็นความจริงตามข้อเท็จจริงที่จดแจ้งไว้ในบันทึกนั้น และผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากรแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น ฯลฯ” ดังนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายมิได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า ผู้ใดมีสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสิ่งต้องกำกัดหรือเป็นลักลอบหนีศุลกากรไว้ในครอบครอง ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นได้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร หากแต่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นความจริงตามที่จดแจ้งไว้ในบันทึกของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้พบเห็น ส่วนข้อสันนิษฐานว่าผู้ที่มีสิ่งนั้นไว้ในครอบครอง เป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากรนั้น เป็นเพียงผลที่สืบเนื่องจากข้อสันนิษฐานข้อแรกนั้น เมื่อแปลความหมายดังนี้ เห็นได้ว่าข้อเท็จจริงที่จะจดแจ้งในบันทึกนั้น อย่างน้อยจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมพอจะแสดงเค้ามูลว่า ผู้มีไว้ในครอบครองนั้นเป็นผู้นำสิ่งนั้นเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือนำเข้ามาโดยการลักลอบหนีศุลกากร
คดีนี้ โจทก์แสดงบันทึกของร้อยตรีประสงค์มีข้อความว่า ร้อยตรีประสงค์กับพวกได้ไปทำการบันทึกที่กรมประสานงานเขตประเทศลาว และเชิญตัวนายไฮ้ แซ่โอ เจ้าของร้านไท้ฮงล้ง นายเอี่ยม แซ่ฉั่ว เจ้าของร้านเซ่งจุ่น เวียงจันทร์ มาให้ถ้อยคำว่า เจ้าของร้านทั้ง ๒ ร้านนี้ได้ขายทองรูปพรรณของกลางคดีนี้ให้แก่หญิงไทยและชายไทยไปเมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นเพียงบันทึกการดูของกลางว่าได้มีการขายของกลางไปจากร้านขายทองในประเทศลาวอย่างในคดีอื่น ๆ ทั่วไป หาได้มีลักษณะเป็นบันทึกอันจะก่อให้เกิดข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังที่กล่าวข้างต้นไม่ ฉะนั้น เรื่องหน้าที่นำสืบ การวินิจฉัยพยานหลักฐานย่อมเป็นไปตามหลักที่ใช้ทั่วไปแต่คดีอาญาทั้งปวง คือ โจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยและจะลงโทษได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานพอให้ฟังว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ในที่สุดศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้ของกลางรายนี้มาโดยอาการอย่างไร ฯลฯ แม้หากจะฟังว่าของกลางเป็นทองรูปพรรณจำหน่ายจากร้ายขายทองในประเทศลาว ก็ไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงภาษี ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว พิพากษายืน