คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันฉ้อโกงโดยหลอกลวงโจทก์ให้ทำสัญญาเช่าซื้อตัวรถยนต์จากจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อลงนามสัญญาเช่าซื้อและได้ต่อตัวถังรถยนต์นั้นขึ้น ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันลักรถยนต์ดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของตัวถังรถ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์ ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันเป็นรถยนต์ชนิดมีตัวถังเป็นส่วนควบ ซึ่งตัวรถยนต์ของผู้ให้เช่าซื้ออาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012 วรรคหลัง ผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นเจ้าของตัวรถยนต์จึงเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันแต่ผู้เดียว โจทก์หาใช่เป็นเจ้าของรวมอยู่เดียวไม่ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อเอารถยนต์นั้นไป จึงหาใช่เป็นการเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปไม่ จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๓ สมคบกันหลอกลวงให้โจทก์ลงนามในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ ๑ ว่าเมื่อโจทก์นำรถไปต่อตัวถังโดยเงินของโจทก์เสร็จ และนำรถออกใช้งานได้แล้ว โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดแรก ๑๐,๐๐๐ บาท และงวดต่อไปเป็นรายเดือน โจทก์หลงเชื่อได้ลงนามเป็นผู้เช่าซื้อ โจทก์ได้นำรถไปต่อตัวถังเป็นเงิน ๔,๒๐๐ บาท จำเลยรับเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทแล้วจำเลยไม่ยอมให้คู่ฉบับสัญญาเช่าซื้อ ต่อมาจำเลยที่ ๑,๒ กับพวกนำรถกุดังลากจูงรถคันที่โจทก์เช่าซื้อไปจากความครอบครองของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑,๓๓๔,๓๓๕,๘๓
จำเลยทั้ง ๓ ให้การปฏิเสธและว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่พอแสดงว่าจำเลยเจตนาจะฉ้อโกง ตัวถึงรถยนต์เป็นอุปกรณ์ติดกับรถไม่อาจแยกกันได้ ถ้าแยกก็ไม่เป็นตัวถัง ไม่เป็นรถที่สมบูรณ์สัญญาระบุว่า ถ้าโจทก์ผิดสัญญาตัวถังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จะว่าจำเลยฉ้อโกงไม่ได้ ตัวถึงรถเป็นสิ่งที่ประกอบติดกับตัวรถ มิใช่สิ่งที่จะถึงใช้แยกออกจากกัน จำเลยยึดรถมาโดยถือว่ารพยังเป็นของจำเลย ยังไม่พอจะถือว่าจำเลยลักเอาตัวถังรถนั้น พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๒ ต้องผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ศาลล่างฟังข้อเท็จจริงว่าตัวรถยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อมีราคาที่โจทก์ต้องผ่อนชำระเป็นค่าเช่าซื้อครั้งแรก ๑๐,๐๐๐ บาท และชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ ๒,๕๐๐ บาท จนครบจำนวนค่าเช่าซื้อ ส่วนตัวถังรถโจทก์ทำมาเป็นราคา ๔,๒๐๐ บาท ดังนั้นกรณีจึงเป็นเรื่องเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมกันเข้าเป็นรถยนต์ชนิดมีตัวถังเป้นส่วนควบ ซึ่งตัวรถยนต์ของผู้ให้เช่าซื้ออาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๑๖ วรรคหลังผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นเจ้าของตัวรถยนต์จึงเป็จเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันแต่ผู้เดียว โจทก์หาใช่เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อเอารถยนต์นั้นไปจึงหาใช่เป็นการเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลล่างทั้ง ๒ ฟังพยานหลักฐานผิดไปจากท้องสำนวนที่ปรากฎตามทางพิจารณานั้น เมื่อตามกฎหมายฟังได้ว่าผู้ให้เช่าซื้อเป็นเจ้าของรถยนต์ทีมีตัวถังเป็นส่วนควบ โจทก์หาใช่เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่ ดังนั้น การที่ผู้ให้เช่าซื้อเอารถยนต์นั้นไปจึงมิใช่เป็นการเอาทรัพยที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไ
จึงไม่มีการกระทำผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้น คดีไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ เพราะอย่างไรก็ไม่ทำให้มีความผิดฐานลักทรัพย์เกิดขึ้น พิพากษายืน

Share