คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นการตั้งประเด็น จึงเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5) เมื่อคู่ความยื่นคำร้องเข้ามา และศาลพิจารณามีคำสั่งคำร้องนั้นตามมาตรา 21(2), 181(1) โดยให้ยกคำร้องตามมาตรา 180 คำสั่งนี้ก็คือคำสั่งที่มีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามนัยแห่งมาตรา 177 วรรคท้าย และมาตรา 18 ซึ่งทำให้ประเด็นข้อที่จำเลยตั้งขึ้นโดยคำร้องเพิ่มเติมคำให้การนั้นเสร็จไป เมื่อศาลพิพากษาคดีแล้ว จำเลยย่อมอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้โดยมิต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ก่อน เพราะเป็นการอุทธรณ์ตามความในมาตรา 223 ไม่ใช่อุทธรณ์ตามมาตรา 226. (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 21/2508)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้เช่าตึกของโจทก์ ๑๐ ปี เพื่อประกอบการค้า ค่าเช่าเดือนละ ๑๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ได้เข้าประกอบการค้าโดยเช่าช่วงจากจำเลยที่ ๑ ก่อนสัญญาเช่าสิ้นอายุ โจทก์ได้บอกไม่ให้จำเลยอยู่ต่อไป เมื่อสัญญาเช่าสิ้นอายุ จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากตึกพิพาท และร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๓,๒๐๐ บาท กับค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องวันละ ๕๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าเคหะและที่ดิน พ.ศ. ๒๕๐๔ สัญญาเช่าระงับเมื่อสิ้นกำหนดที่ตกลง พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองกับบริวารให้ออกจากตึกพิพาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๑,๒๘๐ บาท กับค่าเสียหายเดือนละ ๖๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องของจำเลยให้โจทก์ ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคู่ความต่างแถลงโต้แย้งกัน แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยควรได้ทราบข้อความที่ขอให้การเพิ่มเติมมาก่อนแล้วประการหนึ่ง กับจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาเช่าจากโจทก์จำเลยไม่มีสิทธิจะโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของโจทก์อีกประการหนึ่ง จึงไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเป็นการตั้งประเด็น จึงเป็นคำคู่ความตามมาตรา ๑(๕) เมื่อคู่ความยื่นคำร้องเข้ามา และศาลพิจารณามีคำสั่งคำร้องนั้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๑(๒), ๑๘๑(๑) โดยให้ยกคำร้องตามมาตรา ๑๘๐ คำสั่งนี้ก็คือคำสั่งที่มีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามนัยแห่งมาตรา ๑๗๗ วรรคท้าย และมาตรา ๑๘ ซึ่งทำให้ประเด็นข้อที่จำเลยตั้งขึ้นโดยคำร้องเพิ่มเติมคำให้การนั้นเสร็จไป จำเลยอุทธรณ์คำสั่งนั้น เมื่อศาลพิพากษาคดีแล้ว จำเลยย่อมทำได้ตามมาตรา ๒๒๘ วรรคท้าย โดยมิต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ก่อน เพราะเป็นการอุทธรณ์ตามความในมาตรา ๒๒๓ ไม่ใช่อุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๖ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไปอีกว่า จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์ จำเลยจึงเถียงสิทธิของโจทก์ผู้ให้เช่าไม่ได้ ข้อนี้จำเลยฎีกาว่า เมื่อสัญญาเช่าเลิกแล้ว นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ไม่มี เมื่อปรากฏว่าตึกไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยตามสัญญาเช่าด้วย แม้สัญญาเช่าเลิกแล้ว การที่จำเลยต้องออกจากทรัพย์ที่เช่าก็เป็นผลของการเลิกสัญญานั้นเอง จำเลยยังต้องผูกพันโดยผลของสัญญาอยู่นั่นเอง หาใช่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยกรรมสิทธิ์ซึ่งโจทก์ไม่มีดังจำเลยฎีกาขึ้นมาไม่ ที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การชอบแล้ว เพราะไม่มีสาระแก่คดีแต่ประการใด ข้อหาอื่นไม่มีโต้แย้งขึ้นมาในชั้นนี้ เป็นอันยุติ
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยที่ ๑.

Share