คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ จำเลยให้การต่อสู้ว่า เดิมจำเลยกู้เงินไปตามฟ้องจริง ต่อมาโจทก์จำเลยได้เอาดอกเบี้ยกับเงินต้นที่ค้างอยู่มารวมกันทำเป็นสัญญาขึ้นใหม่ คือ สัญญากู้ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยก่อนแล้วตามสำนวนคดีอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนสัญญาฉบับเดิมโจทก์ไม่คืนให้และกลับนำมาฟ้องคดีนี้อีก ดังนี้ แม้จำเลยจะมิได้ระบุอ้างคำแถลงของจำเลยในคดีอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงในคำให้การนั้นไว้ในบัญชีพยานคดีนี้ แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อศาลเห็นสมควรแล้ว ศาลก็นำเอาคำแถลงนั้นมาประกอบการพิจารณาในคดีนี้และฟังข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรค 3 ไม่ขัดกับมาตรา 87

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๐ จำเลยกู้เงินโจทก์ไป ๒,๙๐๐ บาท ตามสัญญากู้ดังสำเนาท้ายฟ้อง ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลย
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๐ จำเลยกู้เงินโจทก์ไปตามสัญญาที่ฟ้องนี้จริง ครั้นเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๐๑ โจทก์จำเลยได้คิดดอกเบี้ยและต้นเงินที่ค้างอยู่รวมกันเป็นเงิน ๔,๕๐๐ บาท เอามาทำเป็นสัญญาขึ้นใหม่ คือสัญญากู้ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยก่อนแล้วตามสำนวนคดีแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๒ ของศาลเดียวกัน ส่วนสัญญาฉบับเดิมโจทก์ไม่ได้คืนให้แล้วกลับนำมาฟ้องจำเลยอีก เท่ากับจะให้ชำระหนี้ ๒ ครั้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียวก็ดี แต่คำเบิกความของจำเลยก็มีเหตุผลน่าเชื่อ เพราะจำเลยได้แถลงไว้ในคดีแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๒ ว่า มูลเหตุของสัญญากู้ในคดีนั้นสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยได้ตกลงกันเอาต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทำขึ้น แม้ในบัญชีพยานจำเลยจะไม่ได้อ้างคำแถลงนี้ไว้ แต่จำเลยก็ได้เบิกความถึง และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลเห็นสมควรนำมาประกอบพิจารณาคดีนี้ด้วย ส่วนหลักฐานพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลย พิพากษาว่าหนี้ตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ระงับแล้ว ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายมีว่า จำเลยมิได้ระบุอ้างคำแถลงของจำเลยในคดีแพ่งแดงที่ ๑๙๒/๒๕๐๒ เป็นพยานไว้ในบัญชีพยานคดีนี้ แต่ศาลกลับเอาคำแถลงนั้นมาประกอบการพิจารณาคดีนี้ด้วยนั้น จะชัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗ หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา ๘๖ วรรค ๓ หมายความว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น เมื่อศาลเห็นสมควรแล้วศาลจะเรียกอะไรมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อประกอบคดีอีก แม้คู่ความจะมิได้ระบุอ้างไว้ก็ดี ก็อยู่ในอำนาจของศาลที่จะกระทำได้ หาขัดต่อมาตรา ๘๗ ไม่ เทียบนับฎีกาที่ ๓๖๙๓/๒๔๘๐ และ ๑๐๔๘/๒๔๘๗ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

Share