คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้าอายุความฟ้องคดีอาญาขณะกระทำผิดแตกต่างกับขณะฟ้อง ต้องใช้อายุความที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดบังคับ
ความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้น ขาดอายุความตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 80 แต่ก็ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามกฏหมายลักษณะอาญา มาตรา 78 เพราะอายุความร้องทุกข์ต้องอยู่ในบังคับอายุความฟ้องคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์โดยหลอกลวงว่า ที่ดินบ้านเรือนที่จำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้นั้นเป็นของจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินคืน โจทก์ชนะคดี แต่ในชั้นบังคับคดียึดทรัพย์มีนางเย็นร้องขัดทรัพย์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องถอนการยึดทรัพย์โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยทุจริตหลอกลวงโจทก์เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๐๒ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๐๔,๓๐๖ (๔) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วเห็นว่า เหตุเกิดวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๖ โจทก์เพิ่งฟ้องวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๐๒ เกิน ๕ ปี ขาดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า อายุความต้องเริ่มนับแต่วันรู้เรื่องความผิด คือ วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๐๒ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๘๐ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ (๓) ส่วนกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ มุ่งบัญญัติถึงความผิดอื่น หาใช่บัญญัติเกี่ยวโยงมาถึงความผิดส่วนตัวไม่ เพราะความผิดส่วนตัวมีมาตรา ๘๐ บัญญัติอยู่ชัดแจ้งแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำผิดคดีนี้ได้กระทำเมื่อใช้กฎหมายลักษณะอาญา จึงต้องใช้อายุความฟ้องตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ (๓) ซึ่งมีกำหนด ๕ ปี ส่วนอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ (๓) กำหนดให้ฟ้องภายใน ๑๐ ปีนั้น ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด จะนำมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ นั้น กำหนดอายุความฟ้องคดีอาญาไว้ทุกประเภทความผิดลดหลั่นกันตามความสำคัญแห่งโทษ แต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้ว กฎหมายได้กำหนดอายุความให้มีการร้องทุกข์ไว้ด้วยตามมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะให้คดีประเภทนี้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ซึ่งมิใช่เป็นอายุความฟ้องคดีอาญาโดยตรง คือ ถ้าได้ร้องทุกข์ตามมาตรา ๘๐ แล้ว ก็ฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวเกิน ๓ เดือน แต่ไม่เกินอายุความฟ้องคดีตามมาตรา ๗๘ ได้ ฉะนั้นมาตรา ๘๐ จึงอยู่ในบังคับมาตรา ๗๘ ด้วย นัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๓๖/๒๔๘๒ คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว
พิพากษายืน

Share