คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปล่อยให้ปสุสัตว์หรือสัตว์พาหนะเข้าในเรือกสวนไร่นาของผู้อื่น อันจะเป็นผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 340(1) นั้น หมายถึงการขาดความระมัดระวังดูแลสัตว์นั้นไว้เป็นเหตุให้สัตว์นั้นเข้าไป ถ้าเป็นการจงใจไล่ต้อนสัตว์เข้าไปทำอันตรายแก่พรรณไม้อันมีประโยชน์ในเรือกสวนไร่นาเขาเสียหายแล้ว ย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามาตรา 324.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจปล่อยกระบือของจำเลยเข้าไปในไร่อ้อยของนางติ่ง กระบือเหยียบย่ำกัดกินอ้อยที่นายติ่งเพาะพันธ์อันมีประโยชน์งอกงามอยู่แล้วเสียหาย ๒ งาน ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๐(๑)
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐(๑) จะเป็นผิดต่อเมื่อจงใจปล่อยสัตว์ให้เข้าไป แต่คดีนี้ได้ความว่า จำเลยมิได้ปละปล่อยจึงยังไม่มีความผิด พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานลหุโทษนั้นมาตรา ๓๓๓ บัญญัติไว้ว่า แม้ผู้กระทำผิดมิได้กระทำโดยเจตนาก็ต้องมีโทษ และข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า กระบือของจำเลยได้เข้าไปเหยียบย่ำกัดกินอ้อยในไร่ของนายติ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเพราะจำเลยมิได้ควบคุมระมัดระวังกระบือของตนตามสมควร จึงเรียกได้ว่า จำเลยให้กระบือเข้าไป ถ้าเป็นการจงใจไล่ต้อนเข้าไปทำอันตรายแก่พรรณไม้อันมีประโยชน์งอกงามในเรือกสวนไร่นาของผู้อื่นให้เสียหาย จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา ๓๒๔ จึงพิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น.

Share