คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะขอให้ศาลสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถานั้น ต้องปรากฎว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้ได้รับอนุญาตให้ว่าความอย่างคนอนาถา ไม่ใช่เป็นของบุคคลอื่น

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องความอย่างคนอนาถา ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถา จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ยื่นคำร้องคัดค้านว่าโจทก์มีทรัพย์พอที่จะเสียค่าธรรมเนียมได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดที่ดินของโจทก์ไว้
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลจะมีคำสั่งยึดหรืออายัดที่ดินของโจทก์ได้ก็ต่อเมื่อปรากฎว่าทรัพย์นั้นโจทก์มีอยู่ในเวลายื่นคำขออนาถาหรือมีขึ้นภายหลังแต่ก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี คำร้องจำเลยไม่เข้าลักษณะดังกล่าว ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๒-๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒-๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินที่จำเลยขอให้ศาลสั่งยึดหรืออายัดนี้ ตามคำร้องและสำเนาหนังสือท้ายคำร้องของจำเลยแสดงขัดว่า โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ยกให้แก่บุตรของโจทก์ไปแล้ว โดยทำหนังสือยกให้แก่กันต่อเจ้าพนักงาน ก็เมื่อโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุตรของโจทก์แล้ว ที่ดินรายนี้ก็ไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ จำเลยจะให้ศาลยึดหรืออายัดทรัพย์สินซึ่งเป็นของบุคคลนอกคดีได้อย่างไร จะอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๔ ก็ไม่ได้ เพราะตาม มาตรา ๑๕๔ ก็แสดงว่าเป็นทรัพย์ของผู้ได้รับอนุญาตให้ว่าความอย่างคนอนาถาไม่ใช่ให้อำนาจศาลสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลอื่น ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงให้ยกฎีกาจำเลยที่ ๒-๓
พิพากษายืน

Share