แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ได่รับสัมปทานตั้งโรงทำการจำหน่ายไฟฟ้านั้นถือได้ว่าได้ทำคำเสนอแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่าจะรับจำหน่างไฟฟ้าให้แก่ประชาชาชนในเขตสัมปทาน เมื่อมีผู้ขอให้ไฟฟ้าโดยยอมรับปฏิบัติตามสัมปทานแล้วก็ถือได้ว่าได้มีการสนองรับคำเสนอก่อให้เกิดสัญญาผูกพันกันขึ้นตามข้อที่กำหนดไว้ในสัมปทาน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกร้องตั้งข้อกำหนดนอกเหนือไปจากสัมปทานอีกไม่ได้และบอกเลิกสัญญาโดยลำพังตาม ป.พ.พ.ม. 386 ก็ไม่ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2498)
ย่อยาว
คดีได้ความว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้รับสัมปทานให้ทำไฟฟ้าจำหน่างแก่ประชาชที่จังหวัดเพ็ชรบุรี โจทก์เป็นลูกค้าใช้ไฟฟ้ามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ บริษัทจำเลยตั้งแต่หม้อเมเตอร์ให้โดยมิได้เรียกเงินประกัน ครั้นถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๙๓ บริษัทจำเลยได้รับต่ออายุสัมปทานอีก ๒๕ ปี มีการเปลี่ยนแปลงคือเพิ่มเครื่องทำไฟและจำหน่ายกระแสไฟสลับแทนไฟตรง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๖ จำเลยออกประกาศให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเดิมวางเงินประกันหม้อเมเตอร์ ๒๕๐ บาทถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าเดิมไม่ไปแสดงความจำนงค์ก็ให้ถือว่าเลิกใช้โจทก์ไม่ได้แสดงความจำนงและไม่ยอมเสียเงิน หลังจากประกาศแล้วประมาณ ๔ เดือนจำเลยก็ถอนหม้อเมเตอร์งดจ่างกระแสร์ไฟฟ้าให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายกระแสร์ไฟฟ้าและติดตั้งหม้อเมเตอร์ให้ กับเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ถือได้ว่าโจทก์เลิกใช้ไฟฟ้าแล้ว โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลย สัมปทานเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อความรับกันได้ความดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่ติดใจขอค่าเสียหาย จึงสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยเกิดความผูกพันขึ้นตาม ป.พ.พ.ม. ๓๗๔,๓๗๕ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกการจ่ายไฟฟ้าเสียได้ พิพากษาให้จำเลยติดตั้งหม้อเมเตอร์และจำหน่างไฟฟ้าให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงผู้จัดการตามหน้าที่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าการตั้งโรงไฟฟ้าจำหน่างกระแสร์ไฟเช่นนี้ เป็นกิจการค้าอันเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณชนต้องห้ามมิให้กระทำเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ๆ จะกำหนดเงื่อนไขที่เห็นว่าจำเป็นไว้ด้วยก็ได้ ตามนัยแห่ง พ.ร.บ. ควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ ม.๕ และฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๕ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการที่บริษัทจำเลยเรียกเก็บเงินเช่นที่กล่าวแล้วนั้นเป็นการขัดกับสัมปทานข้อ ๑๖,๑๘,๒๐ จะเรียกเงินเกี่ยวกับหม้อเมเตอร์เกินกว่าเดือนละ ๑๐๐ สตางค์ไม่ได้ การที่บริษัทได้รับสัมปทานเช่นนี้ถือว่า ได้ทำคำเสนอแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่าจะรับบริการต่อประชาชนภายในเขตสัมปทานตามเงื่อนไขในสัมปทาน ฉนั้นเมื่อมีผู้ใช้ไฟฟ้าและปฏิบัติตามสัมปทานแล้วก็ถือได้ว่าสนองรับคำเสนอของบริษัทจำเลยก่อให้นิติกรรมสัญญาผูกพันกันเช่นระหว่างผู้ขอใช้ไฟฟ้ากับผู้รับสัมปทานโดยเหตุนี้จะเป็นโดยข้อสัญญาหรือข้อ ก.ม. จำเลยก็ไม่มีสิทธิเรียกเงินประกันหม้อเมเตอร์และบอกเลิกสัญญาได้โดยลำพังตาม ป.พ.พ.ม. ๓๘๖ พิพากษายืน