คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อความในสัญญาเป็นแต่กล่าวไว้ว่าถ้าจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายทดแทนอย่างใด ๆ จะต้องกระทำภายใน 3 วันนับจากวันที่สินค้ามาถึง และในการเรียกร้องค่าเสียหายทดแทนนั้นถ้าจำต้องมอบเรื่องให้อนุญาตโดยตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด คู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมที่จะปฏิบัติตามคำตัดสินชี้ขาดอนุญาตตุลาการ และคำชี้ขาดนั้นจะผูกพันธ์คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้ ไม่ปรากฎว่ามีข้อความใดบังคับว่าคู่กรณีจำต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดทุกกรณีไป เพราะข้อสัญญานั้นกล่าวแต่ว่าถ้ามอบเรื่องให้อนุญาตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดแล้วคู่กรณีจะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ๆ เท่านั้น สัญญาดังกล่าวจึงไม่ตัดสิทธิคู่กรณีที่จะนำคดีมาฟ้องศาล
สัญญาซื้อขายเครื่องขีดไฟรูปเทีนน โจทก์นำสืบพยานบุคคลได้+ เครื่องขีดไฟรูปเทียนนั้น+ตัวอย่าง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม. 92

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของร้านค้า ชื่อ ” ไพโรจน์” โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จัดการ โจทก์ที่ ๒ ได้ตกลงซื้อเครื่องขีดไฟตามตัวอย่างที่จำเลยเสนอขายจำนวน ๕๐๐ โหล ราคา๙๒๕ เหรียญอเมริกัน ได้วางมัดจำ ๙๗๕๐ บาท ของที่ส่งมาถึงโจทก์ไปรับและชำระราคา จำเลยเอาเครื่องขีดไฟไม่เหมือนตัวอย่างมาให้ โจทก์ไม่รับและบอกเลิกสัญญาและขอมัดจำคืน จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้และฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ทำสัญญาขายเครื่องขีดไฟรูปคล้ายเทียนให้โจทก์ตามสัญญาขายฟ้องจริง แต่เป็นการซื้อขายตาคำพรรณาหาใช่เป็นการซื้อขายตามตัวอย่างไม่ เมื่อเครื่องขีดไฟมาถึงโจทก์ไม่ไปรับโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงริบมัดจำ การที่โจทก์ไม่ยอมรับของทำให้จำเลยต้องชำระราคาแก่ผู้ขนส่งตามราคาที่กำหนดในสัญญาและขาดค่านายหน้าที่จำเลยจะพึงได้รับรวมเป็นเงิน ๓๔,๖๕๙ บาท ๕๒ สต. การที่โจทก์ไม่ยอมรับของจำเลยต้องนำของออกขายตามสัญญาข้อ ๔ เมื่อคำนวนราคาของที่ขายได้บวกกับเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้เป็นเงิน ๒๔,๗๕๐ บาท จำเลยต้องขาดประโยชน์ไป ๙,๙๐๙.๕๒ บาท จึงขอฟ้องแย้งให้บังคับโจทก์ทั้งสองรับผิดร่วมใช้ อนึ่งจำเลยตัดฟ้องว่าโจทก์มิได้เสนอข้อเรียกร้องต่ออนุญาตตุลาการตามสัญญาข้อ ๙ โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลและว่าคำแปลสัญญาข้อ ๘ ท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง ทั้งโจทก์ที่ ๒ ไม่ได้แสดงให้จำเลยทราบว่าโจทก์ที่ ๒ ทำแทนโจทก์ที่ ๑ ในฐานผู้จัดการร้านค้าของโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ แสดงต่อจำเลยว่าโจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของร้านค้าไพโรจน์เอง จำเลยไม่รู้จักกับโจทก์ที่ ๑
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ ๒ ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วว่าโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้จัดการของโจทก์ที่ ๑ และทำแทนโจทก์ที่ ๑ โจทก์ทั้งสองเคยติดต่อกับจำเลยมานานแล้ว จำเลยทราบดี โจทก์ยืนยันว่าเรื่องนี้โจทก์ฟ้องขอเลิกสัญญาจึงไม่อยู่ในความหมายของสัญญาที่ ๙ คำแปลสัญญา ข้อ ๙ ของโจทก์ถูกต้องแล้ว และต่อสู้อื่น ๆ อีกหลายประการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนมัดจำ ๙,๗๕๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ฯลฯ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเชื่อว่าการซื้อขายรายนี้ได้มีของตัวอย่างให้โจทก์ดู และโจทก์สั่งซื้อตามตัวอย่างจริง เมื่อจำเลยส่งของมาไม่ตรงตามตัวอย่าง จำเลยก็เป็นผู้ผิด
ที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์สืบว่าการซื้อขายมีของตัวอย่างเป็นการสืบแก้ไข สัญญาไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง. ม. ๙๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการสืบของโจทก์เป็นการสืบให้ทราบรายละเอียดว่าเครื่องขีดไฟรูปเทียนตามสัญญานั้นเป็นชนิดใด โดยเครื่องขีดไฟรูปเทียนมีหลายชนิดด้วยกัน เช่นนี้หาเป็นการสืบแก้ไขสัญญาไม่
ข้อที่จำเลยตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้เพราะจะต้องนำข้อพิพาทเสนออนุญาตตุลาการตามสัญญาข้อ ๙ นั้น เห็นว่าสัญญาข้อ ๔ เป็นแต่กล่าวไว้ว่าถ้าจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายทดแทนอย่างใด ๆ จะต้องกระทำภายใน ๓ วันนับจากวันที่สินค้ามาถึง และในการเรียกร้องค่าเสียหายทดแทนถ้าจำต้องมอบเรื่องให้อนุญาตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมที่จะปฏิบัติตามคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาตตุลาการ และคำตัดสินชี้ขาดนั้นจะผูกพันธ์คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ไม่มีข้อบังคับว่าคู่กรณีจำต้องมอบข้อพิพาทให้อนุญาตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดทุกกรณีไป ข้อสัญญานั้นบอกแต่เพียงว่า ถ้ามอบเรื่องให้อนุญาตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดแล้ว คู่กรณีจะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ๆ เท่านั้น จึงไม่เป็นการตัดสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาล
พิพากษายืน

Share