แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจุดไฟเผากิ่งไม้แห้งในไร่ของจำเลยและไฟได้ลุกลามไปไหม้ทรัพย์ของผู้เสียหาย ทั้งยังน่ากลัวจะไหม้โรงข้าวของผู้เสียหายอีกด้วย ความผิดของจำเลยขณะทำผิดต้องด้วย ก.ม.ลักษณะอาญา ม.187 วรรค 2 ไฟที่จำเลยจุดเผาขึ้นได้ไหม้เอาต้นมะพร้าว อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายตามข้อ (5) แห่ง ม.186 ด้วย โทษที่ควรลงแก่จำเลยจึง ต้องเอาโทษที่กำหนดไว้ใน ม.186 เป็นเกณฑ์ แต่ขณะนี้ ก.ม.ลักษณะอาญาได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ใช้ประมวล ก.ม.อาญาแทน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตรงตาม ม.220 วรรคแรกแห่งประมวล ก.ม.อาญา แต่วรรค 2 ของมาตรานี้บัญญัติว่า ถ้าเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ใน ม.218 ให้ลงโทษดังที่บัญญัติไว้ใน ม.218 แต่ใน ม.218 ข้อ 1 ถึง 6 มิได้บัญญัติไว้ถึงเรื่องวางเพลิงเผาต้นมะพร้าวอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้เลย ฉะนั้นจะลงโทษตามวรรค 2 ของ ม.220 ประมวล ก.ม.อาญาไม่ได้ คงลงโทษจำเลยตาม ม.220 วรรคแรกซึ่งมีอัตราโทษจำคุกเบากว่า ม.187 วรรคแรกของ ก.ม.ลักษณะอาญา ตาม ม.3 ประมวล ก.ม.อาญา.
ย่อยาว
เรื่อง จุดไฟเผาทรัพย์ตนเองเป็นอันตรายแก่ทรัพย์ผู้อื่น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเอาเพลิงจุดเผากอหญ้าและไม้แห้งในไร่ของจำเลยโดยลักษณะอันน่ากลัวจะเป็นอันตรายแก่ผู้คนและทรัพย์ของผู้อื่น เป็นเหตุให้ไฟลุกลามไหม้เข้าไปในสวนของนางหีด ลวกเผ่าต้นผลไม้พืชผลต่าง ๆ และรั้วไม้ของนางหีด คิดเป็นเงินรวม ๓๒๗.๕๐ บาท ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๑๘๗ วรรค ๒ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.ลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๗๕ ม.๕
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยเป็นผู้จุดเผาไฟรายนี้ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เชื่อพยานโจทก์ ฟังว่าจำเลยจุดไฟเผากิ่งไม้แห้งในไร่ของจำเลยในลักษณะที่ไฟอาจลุกลามไปไหม้รั้วและ ทรัพย์ของผู้เสียหายได้ เพราะที่ดินของผู้เสียหายอยู่ติดที่ของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นผิดตาม ก.ม.ลักษณะ อาญา มาตรา ๑๘๗ วรรค ๒ ซึ่งบัญญัติว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษตาม ม.๑๘๖ แต่ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ถูกไฟไหม้ เป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย ตาม ม.๑๘๙ ให้ลงโทษในสถานเบาเพียงฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ม.๓๒๔ ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อ เจ้าพนักงานแล้ว จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๑๘๗ พ.ร.บ.แก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๗๕ ม.๕ ประกอบด้วย ม.๑๘๙ และ ม.๓๒๔ ให้จำคุก ๒ เดือน
โจทก์และจำเลยฎีกา
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า พยานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลอุทธรณ์วางบทลงโทษมายังไม่ชอบ เพราะไฟที่จำเลยจุดเผานั้นได้เกิดไหม้ลุกลามไป ถึงทรัพย์อย่างอื่นด้วย จำเลยจึงควรความผิดตาม ม.๑๘๗ วรรค ๒ ซึ่งตาม ม.๑๘๖ มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป จนถึงตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก ๒ เดือนเบาไป ขอให้ลงโทษตามฟ้อง
ที่เกี่ยวกับฎีกาข้อเท็จจริงของจำเลย ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยจุดเผากิ่งไม้แห้งในไร่ของจำเลยและไฟได้ไหม้ทรัพย์ของ ผู้เสียหายไปแล้วด้วย และยังน่ากลัวจะไหม้โรงข้าวของผู้เสียหายอีก ให้ยกฎีกาจำเลย
ส่วนที่เกี่ยวกับฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้ว ความผิดของจำเลยในขณะ ที่จำเลยกระทำผิด ต้องด้วยมาตรา ๑๘๗ วรรค ๒ ของ ก.ม.ลักษณะอาญา เพราะไฟที่จำเลยจุดเผาขึ้นได้ไหม้เอาต้นมะพร้าว อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายตามข้อ (๕) แห่ง ม.๑๘๖ ด้วย ไม่++ม.๑๘๙ โทษที่ควรลงแก่จำเลยจึงต้องเอาโทษที่ กำหนดไว้ใน ม.๑๘๖ เป็นเกณฑ์ ซึ่งจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ ๑๐ ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ ๑,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ขณะนี้กฎหมายลักษณะอาญาได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทนการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตรงตาม ม.๒๒๐ วรรคแรก ประมวล ก.ม.อาญา แต่วรรค ๒ มาตรานี้บัญญัติว่า ถ้าเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ ใน ม.๒๑๘ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ๖ มิได้บัญญัติไว้ถึงเรื่องวางเพลิงเผาต้นมะพร้าวอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ไว้เลย ฉะนั้น จะลงโทษ ตามวรรค ๒ ของ ม.๒๒๐ ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ โทษตาม ม.๒๒๐ วรรคแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี เบากว่า ม.๑๘๗ วรรคแรกของ ก.ม.ลักษณะอาญา ตาม ม.๓ ประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องลงโทษ ม.๒๒๐ วรรคแรก
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๒๒๐ วรรคแรก มีกำหนด ๑ ปี