คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายโจทก์ลงนามฟ้องความแทนโจทก์โดยอาศัยใบแต่งทนายซึ่งโจทก์ทำให้เพียงใบเดียว แม้ไม่มีหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องความ ก็ย่อมใช้ได้
การเช่าที่ราชพัสดุรายพิพาท โจทก์จำเลยที่ 1 และ นางชอุ่ม ได้ทำสัญญาเช่าร่วมกัน รับผิดต่อกระทรวงการคลัง แต่ทำสัญญาแยกกันคนละฉบับ ต่อมา จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวทำสัญญา โดยเอาที่นี้ไปให้จำเลยที่ 2 เช่าช่วงปลูกโรงภาพยนต์ กระทรวงการคลังจึงได้บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว เช่นนี้สัญญาเช่าระหว่างกระทรวงการคลัง กับ โจทก์และ นางชอุ่ม ซึ่งมิได้ถูกบอกเลิกนั้น ยังคงใช้ได้อยู่.

ย่อยาว

เรื่อง ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าสัญญาเป็นโมฆะ และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
คดีนี้คู่ความรับกันว่า เดิมโจทก์ จำเลยที่ ๑ และ นางชอุ่ม รวม ๓ คน ได้ทำสัญญารับผิดร่วมกันขอเช่าที่ราชพัสดุแปลง เลขที่ ๘/๔๐๐ เพื่อปลูกสร้างอาคารให้คนเช่า แต่สัญญานี้ได้แยกทำคนละฉบับ ศาลหมาย จ.๑-๒-๓ ตามลำดับ ต่อมาจำเลยที่ ๑ คนเดียวได้เอาที่ดินแปลงนี้ไปให้จำเลยที่ ๒ เช่าช่วงเพื่อปลูกโรงภาพยนต์ และด้วยเหตุนี้ทางการจึงได้บอกเลิกสัญญาเช่า ไปยังจำเลยที่ ๑ โดยผิดสัญญา เพราะให้เช่าช่วง
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๒ รื้นขนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินรายนี้ออกไป และทำที่ดินให้คงสภาพเดิมตามข้อที่ท้ากัน
คดีนี้ คู่ความไม่สืบพยาน คงมีประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามคำแถลงของโจทก์จำเลยเพียง ๒ ข้อ คือ
๑. ทนายโจทก์ลงนามฟ้องความแทนโจทก์โดยอาศัยใบแต่งทนายซึ่งโจทก์ทำให้เพียงใบเดียว ไม่มีหนังสือมอบอำนาจได้หรือไม่
๒. สัญญาเช่าที่พิพาทระหว่างโจทก์ นางชอุ่ม และจำเลยที่ ๑ ที่ทำไว้ร่วมกันกับกระทรวงการคลังนั้น เมื่อกระทรวงการคลังบอกเลิกสัญญาจำเลยที่ ๑ เพียงคนเดียว โจทก์และ นางชอุ่ม ยังคงมีสิทธิตามสัญญาเช่านั้นหรือไม่
ประเด็นข้อ ๑. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑ ข้อ ๑๑ คำว่า “คู่ความ” กินความถึงทนายซึ่งมีสิทธิกระทำการแทนตัวความด้วย ตามมาตรา ๖๐ วรรคแรก ป.วิ.แพ่ง คู่ความจะตั้งแต่งทนายคนเดียวหรือหลายคนให้ว่าความและดำเนินกระบวน พิจารณาแทนตนก็ได้ ซึ่งการยื่นฟ้องคดีก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งหมายความถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไป แต่ถ้ากฎหมายประสงค์จะตัดสิทธิของทนายความอย่างใดก็ย่อมบัญญัติข้อความไว้เป็นพิเศษ เช่น ตามมาตรา ๖๒ ทนายความจะดำเนินกระบวนพิจารณา ในทางจำหน่ายสิทธิ ของคู่ความมิได้ และจะใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาก็ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ซึ่งให้ระบุไว้ในใบแต่งทนายตามใบแต่งทนายของโจทก์ในเรื่องนี้ โจทก์ได้มอบอำนาจทุกประการดั่งว่านี้ให้แก่ทนายโจทก์ด้วย ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ประเด็นข้อ ๒. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าระหว่างกระทรวงการคลังกับโจทก์และ นางชอุ่ม ซึ่งยังมิได้ถูกบอกเลิก ยังคงใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๐ เมื่อโจทก์ยังมีสิทธิเช่าที่แปลงนี้อยู่ และจำเลยเข้ามาปลูกสร้างในที่โจทก์โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ก็ขับไล่จำเลยได้ เพราะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ไม่มีสัญญาต่อกัน .

Share