คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัดเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายเจ้าอาวาสมีสิทธิฟ้องคดีในนามของวัดได้ และมีอำนาจมอบให้ผู้อื่นเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งแทนตนได้
พยานลงชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรม ต่อมาอีก 3 วันผู้ทำพินัยกรรมจึงได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนต่อหน้าพยานชุดเดิม พินัยกรรมนั้นถูกต้องตาม ม. 1656
โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าเป็นของวัดซึ่งแต่แรกตกอยู่ที่เจ้าอาวาสองค์เก่าซึ่งมรณภาพไปแล้ว และอ้างว่าบัดนี้จำเลยยึดถือไว้โดยไม่มีอำนาจ คดีย่อมไม่มีปัญหาเรื่องอายุความมรดก.

ย่อยาว

เรื่อง เรียกทรัพย์
โจทก์ฟ้องว่าวัดน้อยแสงจันทร์มีทรัพย์สมบัติหลายอย่างเป้ฯของสงฆ์ตามบัญชีหมาย ก. ท้ายฟ้องจำเลยทั้งสี่ได้เอาทรัพย์ทั้งหมดตามบัญชีดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีอำนาจ โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการวัดจากพระภิกษุรักษ์ให้เป็นผู้แทนเจ้าอาวาสวัดนี้ ขอบังคับให้จำเลยคืนทรัพย์ดังกล่าว ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา
จำเลยต่อสู้ว่า
๑. ฟ้องเคลือบคลุม
๒. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
๓. ทรัพย์บางอย่างเป็นของส่วนตัวพระครูพูล เจ้าอาวาสองค์เก่าได้ทำพินัยกรรมมอบให้จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
๔. ทรัพย์ที่ฟ้องบางอย่างไม่มี
ศาลชั้นต้นฟังว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฏหมาย พิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์บางอย่างที่เป็นของวัดให้โจทก์ ส่วนทรัพย์ที่มิใช่ของพระครูพูล พินัยกรรมไม่มีผลบังคับ
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้รายการทรัพย์บางรายการที่ให้คืนโจทก์ บางรายการให้คืนจำเลย
โจทก์ จำเลยฏีกา
ศาลฏีกาเห็นว่า วัดน้อยแสงจันทร์เป็นนิติบุคคลตามกฏหมาย และพระภิกษุรักษ์ในฐานะเจ้าอาวาสมีสิทธิฟ้องคดีในนามของวัดได้ตามพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ พระภิกษุรักษ์จึงมีอำนาจมอบให้นายแม้น จันทร์ไทยเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนตนได้ ตาม ป.วิ. แพ่ง มาตรา ๖๐
เกี่ยวกับพินัยกรรม ศาลฏีกาเห็นว่า พยานลงชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรม ต่อมาภายหลัง ๓ วันผู้ทำพินัยกรรมจึงได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนในพินัยกรรมต่อหน้าพยานชุดเดิมนั้นเอง เป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องเข้าเกณฑ์ครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๒
เกี่ยวกับอายุความ ศาลฏีกาเห็นว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของพระภิกษุพูล แต่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ที่โจทก์ว่าเป็นของวัดน้อยฯ ซึ่งแต่แรกตกอยู่ที่พระภิกษุพูลซึ่งมรณภาพไปแล้ว และอ้างว่าบัดนี้จำเลยยึดถือไว้โดยไม่มีอำนาจ คดีจึงไม่มีปัญหาเรื่องขาดอายุความมรดก
ศาลฏีกาฟังข้อเท็จจริงแล้ว พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนทรัพย์บางอย่างที่เป็นของวัดน้อยฯ ให้แก่โจทก์ บางอย่างที่เป็นของพระภิกษุพูลนั้น จำเลยไม่ต้องคืนโจทก์ และบางอย่างก็เป็นของนางทองคำคนนอกคดี เป็นเรื่องที่จำเลยกับนางทองคำจะจัดการกันเอง.

Share